เครือข่ายโรงงานสีขาวฯ ร้องห้ามขาย-ดื่มน้ำเมาในโรงงาน
เครือข่ายโรงงานสีขาวฯ ร้องกระทรวงแรงงานเข้ม กฎหมายห้ามขาย-ดื่มน้ำเมาในโรงงาน
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า พร้อมด้วย นายจ้างและกลุ่มสหภาพแรงงาน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดผลักดันนโยบายให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมเป็นเขตห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ มีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับเรื่องแทน
นายจะเด็จ กล่าวว่า เครือข่ายโรงงานสีขาวฯ กว่า 20 บริษัท ได้ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2555 อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากการดื่มสุราที่พบในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คือสุขภาพคนงานย่ำแย่ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง โดยเฉพาะคนงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจ เพราะคนงานส่วนใหญ่มักนิยมดื่มสุรากันมากในช่วงหลังเงินเดือนออก รวมไปถึงปัญหาการทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุ
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เห็นได้ชัดเจน ยังมากจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจากผลสำรวจของมูลนิธิเมื่อช่วงต้นปี 2556 พบว่า แรงงานหญิงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นถึง 68.4% หรือ 2 ใน 3 ดื่มเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-3 วัน แต่ละครั้งที่ดื่มมักดื่มจนเมาเต็มที่กว่า 43.8% ทำให้มีปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีปัญหาหนี้สินเรื้อรังโดย 93.2% ต้องเสียเงินไปกับค่าเหล้า การพนัน บุหรี่และหวย” นายจะเด็จกล่าว
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า เจตนาของกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สถานประกอบการมีความปลอดภัย จำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเพื่อเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ใช้แรงงาน ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายโรงงานสีขาวฯเน้นกระบวนการกลุ่มเพื่อนชวนเพื่อนลดละเลิกเหล้าและอบายมุข แต่เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงแรงงานควรมีนโยบายหนุนเสริมดังนี้ 1.รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้โรงงานที่มีอยู่ในความดูแลของกระทรวงแรงงานทั่วประเทศ ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้รับรู้และปฏิบัติตามกฎหมาย 2.นำกฎหมายไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติมในโรงงานสีขาว ปลอดยาเสพติดที่กระทรวงแรงงานให้การสนับสนุนอยู่ 3.มีแผนรณรงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานในเรื่อง ลด ละ เลิกเหล้า และอบายมุข
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง