เครือข่ายแม่ชี สร้างการเปลี่ยนแปลงพลังนักบวชสตรีกับการพัฒนาสังคม
คณะกรรมการเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนาจัดประชุมยกระดับงานเครือข่ายแม่ชี สร้างการเปลี่ยนแปลงพลังนักบวชสตรีกับการพัฒนาสังคม
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนาได้จัดให้มีการสัมมนาประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนาครั้งที่ 6 ณ มูลนิธิธรรมานุรักษ์ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยในเวทีดังกล่าวได้รับเกียรติเปิดการประชุม โดยแม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ จากสำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์ กรุงเทพฯ
ต่อจากนั้นเป็นกิจกรรมสานพลังสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน ภายใต้ชื่อ “ถอดหมวก เปิดใจ เปิดมุมมองใหม่” โดย “ประญัติ เกรัมย์” ผู้ประสานงานเฉพาะกลุ่มภาคีศาสนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “ดอกไม้ในใจฉัน” เพื่อสะท้อนแนวคิด ทัศนคติ ตัวตนและการทำงาน ด้วยการภาวนาอยู่กับตัวเอง จินตนาการถึงดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับทุกมิติชีวิตตนเอง แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจตัวตนคนร่วมงาน เชื่อมใจผ่านดอกไม้หลายชนิดในแผ่นดินเดียวกัน
แต่ละท่านได้สะท้อนตัวตนผ่านดอกไม้ ว่า
แม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ ดอกมะลิ (หอม, มีเมตตา)
แม่ชีจุติภา ทรรพสุทธิ์ ดอกแพงพวย(อยู่ต่ำติดดิน, ออกดอกเสมอ, ทนตนต่อการเหยียบย่ำ)
แม่ชีนิภาวัลย์เจริญกูล ดอกมะลิลา (คิดใหม่ทำใหม่, พุทธบูชา, หอมไกล)
แม่ชีพัฒน์ศราพูลเกิด ดอกพุตตาล (ความรับผิดชอบ, มีสิ่งต้องทำมากมาย)
แม่ชีคำพลอย โชติรัมย์ ดอกพุทธรักษา (บุญคุณพ่อ, ขยันอดทน)
แม่ชีฉวีวรรณ อ่อนน้อม ดอกกุหลาบสีแดง (ความรัก, จริงใจ, เข้มแข็ง)
แม่ชีขวัญปวีณ์คชสีห์กัมพู ดอกดาวกระจาย (สวยงาม, ลิ่วลม, กระจายไปทุกทิศ)
แม่ชีเรณู ยืนเครือ ดอกไม้ป่า (สวยงามในกลางป่าดง)
แม่ชีปาลิดา วงศานันท์ (ดา) ดอกกล้วยไม้ป่า (สวย, ทน, มั่นคง)
คุณณัศยา วิษณุกรโยธิน ดอกบานชื่น(ขึ้นง่าย, งาม, งอกแล้วโตไปได้เรื่อยๆ)
คุณกัญญารัตน์ สุริยะวงค์ ดอกง่ายๆ (สวย, แปลก, ทำประโยชน์)
คุณประญัติ เกรัมย์ ดอกแสน (กระจายตัว, พุ่งออกไปทุกทิศ)
พระอมรมิตร คัมภีรธัมโม ดอกอนัตตา (ว่างตลอด, ปรับตัวตามสถานการณ์)
ในช่วงบ่ายได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนพูดคุยนำเสนอผลงานเด่นของแต่ละสำนักแม่ชี ดังนี้ แม่ชีจุติภา ทรรพสุทธิ์และคณะมูลนิธิธรรมานุรักษ์ จ.กาญจนบุรี กิจกรรมที่ทำได้แก่ การเยียวยาพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก, การบวชชีน้อย (เด็กหญิง)/บวชสามเณร (เด็ก) ผ่านกระบวนเรียนการอยู่ร่วมกันระหว่างชายหญิง การเข้าใจบทบาทตนเองในแต่ละสถานะผ่านกิจกรรมธุดงค์ธรรม, ศูนย์การเรียนรู้ฯ(จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งในระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย),งานศานิกสัมพันธ์ ทำความเข้าใจศาสนาตนเองและศาสนาเพื่อนร่วมโลก, กิจกรรม “ธรรมะข้างถนน”ให้ธรรมะคนเจ็บ ให้สุคติคนตาย ผ่านกู้ภัยพิทักษ์กาญจน์
แม่ชีนิภาวัลย์ เจริญกูลวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กิจกรรมที่ทำ ได้แก่โรงเรียนทางเลือก, ค่ายอบรมแนว “วิชาชีวิต”,ชุมชนผู้สูงอายุภิวัฒน์ (พัฒนาคุณภาพชีวิต),โครงการเตรียมตัวตายอย่างมีสติ (ตายก่อนตาย)
แม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ และคณะสำนักแม่ชีรัตนไพบูล์ จ.กรุงเทพฯ กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวันเรียน, บวชชีน้อยพบธรรม ครอบครัวพบสุข ค่ายเยาวชน/ผู้สูงอายุ, ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง, ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วย
แม่ชีฉวีวรรณ อ่อนน้อม ศูนย์เมตตาบุญปัญญานุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ กิจกรรมที่ทำ ได้แก่โครงการสัจจะวันละบาท, กศน./วิทยาลัยชุมชน(เชื่อมงานกับซิสเตอร์ อ.โนนดินแดง), ศูนย์อบรมฯ (เช่น ค่ายเยาวชน/ผู้สูงอายุ),ธรรมจาริกแดนพุทธภูมิ,เยี่ยมผู้สูงอายุ/ป่วยในชุมชน
กิจกรรมสุดท้าย เป็นการจัดกระบวนการระดมความคิด “เชื่อมพลังแม่ชีไทยนักพัฒนา (ตั้งดาว-ปักธง)” โดยกัญญารัตน์ สุริยะวงค์จากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยมีประเด็นและเนื้อสำคัญดังนี้
ข้อดี การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนา ได้แก่ ได้เครือข่ายถึงลูกหลาน-พบเพื่อนแม่ชีใหม่ๆ กำลังใจ มีเพื่อนเป็นกำลังใจ เกิดความร่วมมือ เสริมพลังการทำงาน มีความอดทน เอาใจใส่ เข้าใจกัน ช่วยเหลือ แบ่งปัน สร้างสรรค์การทำงาน เกิดความสามัคคีในการทำงาน จุดประกายความคิดในการทำงานใหม่ๆ เปิดโลกกว้างให้ตนเอง เกิดแรงกระตุ้นในการทำงานความรู้ ระดมสมองในการทำงานและแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และเนื้องาน-บทบาทและรูปแบบการทำงานของเพื่อนแม่ชีเห็นศักยภาพและแนวคิดในการทำงาน
ข้อกังวล การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนาได้แก่ คิดต่าง ไม่ยอมกับความคิดกันและกัน กระบวนการจุดประกายร่วมอุดมการณ์น้อย การสานต่อหรือเชื่อมงานยังไม่ต่อเนื่อง ไร้ทิศทางการทำงานในประเด็นเดียวกัน แบ่งพรรคแบ่งพวก แยกลำดับชั้น การมีนโยบายร่วมของเครือข่าย ความร่วมมือน้อยภายใต้ความขัดแย้ง มีลับลมคมนัย การเสียสละมีน้อย เห็นแก่ได้ มีอัตตา การให้ความสำคัญและร่วมมือในการทำงาน งบประมาณการเดินทางมีน้อย งบสนับสนุนการทำกิจกรรมไม่เพียงพอ ขาดบุคลากรในการทำงาน (ทายาท) การเดินทาง เพราะอยู่ห่างกัน มีศักยภาพในการทำงานน้อย การประสานงานไม่ทั่วถึง งานเยอะ ทายาทหรือทีมงานช่วยทำงานมีน้อย เวลาไม่มี เพราะงานที่ทำก็เยอะอยู่แล้ว- หนื่อยกับการประชุม/รวมตัว ต้องการความเป็นส่วนตัว เวลาว่างไม่ตรงกัน/ตารางงานหรือกิจกรรมไม่ตรงกัน ผู้ใหญ่ยังไม่เห็นหรือไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก ขาดองค์กรรับรองหรือหนุนเสริมชัดเจน
สุดท้าย เป็นกิจกรรม “ค้นหาอัตลักษณ์หรือตัวตนเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนา” โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้ 1. สร้างงาน/ทำให้สังคมรับรู้งานแม่ชี/ทำให้รู้สึกว่าทุกงานจะขาดแม่ชีไม่ได้/เปลี่ยนทัศนคติต่อแม่ชีใหม่ 2. ปรับทัศนคติของการบวชชีเพื่อการรับใช้สังคมและพ้นทุกข์ร่วมกัน/ความตระหนักในพลังผู้นำของสตรีเพศ/มีภาพและทัศนคติเชิงบวก คุณค่าความเป็นสตรี/เน้นวัตรปฏิบัติแม่ชีที่โดดเด่น 3. มีความซื่อตรงและซื่อสัตย์ต่อสถานะการเป็นแม่ชี/ทำงานด้วยความเบิกบาน/ภูมิใจบนเส้นทางของการเป็นนักบวชสตรี/มีความรู้ความเข้าใจทั้งทางธรรม (ปริยัติ/ปฏิบัติ) และทางโลก (องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำสตรีสมัยใหม่) 4. มีงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง(ทุนนิธิ)/มีองค์กรให้การรับรอง ส่งเสริมและยกระดับการทำงาน
การประชุมที่จบลงด้วยทิศทางที่ชัดเจนครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับการทำงานของแม่ชีไทย โดยมีเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนาเป็นแกนริเริ่มและหนุนเสริมจากพระสงฆ์ ประชาคมและองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะเป็นอีกหนึ่งพลังทางนักบวชสตรีในการเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทยและยกระดับการทำงานของแม่ชีไทยนักพัฒนาให้เป็นประจักษ์แก่สังคมไทย เพื่อปรับทัศนคติและสร้างค่านิยมสร้างสรรค์ในการเป็นนักบวชสตรีไทยต่อไป
ที่มา : เครือข่ายแม่ชีไทยพัฒนา โดยกัญญารัตน์ สุริยะวงค์