เครือข่ายเยาวชนฯ จัดเสวนาแก้ปัญหาสารเสพติด
เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดเวทีเสวนาหัวข้อ“ยาแก้ไอผสมโค้ก 4×100 เหล้าปั่นทำลายเยาวชน จะหยุดมันอย่างไร” ในงานมีนักเรียน นักศึกษา หลากหลายสถาบันเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 70 คน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่โรงแรมฮิปโฮเทล นางนิตยา พร้อมพอชื่นบุญ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รับแจ้งจากอาจารย์โรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตคลองเตย ว่ามีกลุ่มนักเรียนจำนวน 20 ราย เกิดอาการมึนเมาจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังระบาดหนักในเด็กนักเรียนมัธยม ด้วยวิธีนำยาแก้ไอสำหรับเด็ก ชงผสมรวมกันในน้ำอัดลมที่มีรสซ่า แล้วรวมกลุ่มกันเสพ ซึ่งเมื่อเข้าตรวจสอบอาการของนักเรียน ต่างอยู่ในสภาพที่มึนเมาอย่างหนัก เอะอะเสียงดังโวยวาย พุดคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงได้แจ้งผู้ปกครองนักเรียนแต่ละคนให้มารับทราบในสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกหลาน เพื่อหาแนวทางป้องกันรักษา ซึ่งปัญหาเยาวชนกับสารเสพติดเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาอย่างหนักในโรงเรียน มีผลกระทบต่อครอบครัว ส่งผลเสียต่อการเรียน สุขภาพ สร้างความเครียดให้แก่ผู้ปกครอง เพราะนึกไม่ถึงว่าลูกตนเองจะซื้อหามาดื่มได้ง่ายขนาดนี้
“ภาครัฐจำเป็นต้องหามาตรการนโยบายควบคุมการจำหน่ายยาที่เป็นส่วนผสมสำคัญ ของเครื่องดื่มประเภทนี้ รวมไปถึงใบกระท่อมที่เข้ามาเป็นส่วนผสมสำคัญ และเหล้าปั่นที่มีขายอยู่ทั่วไปด้วย ซึ่งในตอนนี้ทางมูลนิธิดวงประทีปกำลังจัดทำโครงการลดสารเสพติดที่บ้าน โดยเป็นการให้ความรู้ ผู้ปกครองเรื่องอันตรายของสารเสพติด กลยุทธ์รู้เท่าทันกับสถานการณ์ของเด็ก ที่พ่อแม่ สามารถนำความรู้เรื่องสารเสพติดไปพูดคุยกับลูกหลานได้ เพื่อลดปัญหา คงต้องเริ่มที่ครอบครัวสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีการพูดคุยกัน ไม่ใช่เห็นลูกถือถุงน้ำอัดลม ก็นึกว่าดื่มน้ำอัดลมทั่วไปกว่าจะรู้ว่าลูกเสพยาก็อาจจะสายไป”นางนิตยา กล่าว
ผศ.ดร.นิตยาวรรณ กุลณาวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า สำหรับเครื่องดื่ม4×100 ที่เยาวชนดื่มแล้วมีอาการมึนเมา พบว่า มาจากการผสมยาแก้ไอน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก กับน้ำอัดลมที่มีรสซ่า รวมถึงการผสมกับน้ำใบกระท่อม สีของน้ำลักษณะจะคล้ายกับสุรา ซึ่งในสูตรของยาแก้ไอชนิดนี้จะมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ลดอาการภูมิแพ้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการมึนงงขาดสติ สนุกสนาน กล้าแสดงออก หากขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุได้
“ถามว่าทำไมเด็กๆถึงหันมาดื่ม 4×100 กันมากขึ้น เพราะเยาวชนมองว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ไม่ใช่สารเสพติด หาซื้อได้ง่าย และหากมีการผสมยาจำพวกที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทแล้ว ยิ่งจะทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้มากขึ้น หากรับประทานในปริมาณที่มากอาจถึงแก่ชีวิตได้”ผศ.ดร.นิตยาวรรณ กล่าว
ผศ.ดร.นิตยาวรรณ กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันต้องแก้กันที่ต้นน้ำ ภาคส่วนต่างๆต้องจริงจังในการออกมาตรการรับมือ ตีกรอบของการจำหน่ายยา ส่วนร้านขายยาต้องมีเภสัชกรที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ รู้จักสังเกตบุคลิกของผู้ที่มาซื้อยา ขณะที่คอรบครัวถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเยาวชน ชุมชนโรงเรียน มีหน้าที่ให้ความรู้เยาวชนรู้เท่าทันถึงอันตราย อย่างไรก็ตามสาเหตุของการดื่มเพราะมีอารมณ์เหงาเศร้าเซ็ง อยากลอง และเขาจะไม่รู้สึกผิด เพราะคิดว่าสิ่งที่ดื่มเข้าไปมันไม่ใช่ยาเสพติด
นายเอ (นามสมมติ) เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เคยลองดื่มเครื่องดื่ม4X100 ตอนอายุอายุ15ปี เพราะรุ่นพี่เป็นคนชักชวน และตนเองก็อยากรู้อยากลอง ขณะนั้นใช้ยาแก้ไอผสมกับน้ำอัดลม และใบกระท่อม ดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆมากสุดวันละ2ขวดใหญ่ มีรสชาติหวาน ส่วนผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ หงุดหงิดง่าย เบื่ออาหาร สูบบุหรี่ได้เยอะขึ้น มีอาการตื้อๆและคิดช้า กระทั่ง1ปีก็เลิกดื่มเพราะครอบครัวขอร้อง อยากฝากถึงเยาวชนไม่ให้ริลองเพราะเป็นสารเสพติดที่อันตราย ซึ่งจากการบอกเล่าของเพื่อนในบ้านกาญฯ เคยทดลองดื่มหนักแล้วเกิดอาการช็อคได้
นายเอ (นามสมมติ) เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เคยมีประสบการณ์เสพสิ่งเหล่านี้มา แต่ตนจะเน้นที่กัญชาเริ่มเมื่อตอนอายุ13ปี สาเหตุเพราะถูกเพื่อนชักชวน ใครไม่เสพจะถูกดูถูก เป็นเหมือนแกะดำของกลุ่ม ตอนที่เสพครั้งแรกรู้สึกเหมือนตกนรก ได้ปลดปล่อย มึนเมา ชารู้สึกเหมือนร่างกายร้อนๆเหงื่อออก หายใจติดขัด และเสพมาเรื่อยๆจนกระทั้งมาหักดิบเลิกเสพได้เพราะครอบครัว ซึ่งพ่อขอร้องว่าหากไม่เรียนก็ไม่ว่า แต่ขออย่างเดียว อย่าติดยาเสพติด จึงสามารถเลิกเสพได้ตอนอายุ15ปี แต่ด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่นมีความคึกคะนองอยู่ในตัว เห็นคนอื่นมีเราก็อยากมีบ้าง จึงทำให้เดินทางผิดถูกต้องคดีข้อหาจำหน่ายยาเสพติดในที่สุด
“ถามว่าครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่อบอุ่นมากและไม่มีปัญหา แต่เพราะอยากรู้อยากลองจึงหลงผิดเสียอนาคต อยากฝากไปยังเยาวชนทุกคนให้ดูเป็นตัวอย่างได้ แต่อย่าเอาเยี่ยงอย่าง การถูกต้องคดีทำให้เสียอิสรภาพ เสียโอกาส และยิ่งไปกว่านั้นทำให้พ่อแม่เสียใจ น้ำตาที่ท่านเสียออกมาคือน้ำตาแห่งความเสียใจที่ไม่มีลูกคนไหนอยากเห็น ต้องไม่ลืมว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะดูแลและสร้างกำลังใจให้กับเรา” เยาวชนจากบ้านกาญฯ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต