เครือข่ายเยาวชนจี้ ‘วิทยา’ ออกกฎหมายลูกคุมน้ำเมา

เครือข่ายเยาวชนจี้'วิทยา'ออกกฎหมายลูกคุมน้ำเมา

เมื่อวันที่ 14 กันยายน เครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์ กทม. กว่า 20 คน เข้าพบนายวิทยา บุรณศิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้มีการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดย ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนคนต่อปี อายุน้อยลงเรื่อยๆ ร้านเหล้ารอบสถานศึกษาเพิ่มขึ้น สถิติการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุก 20 นาทีต่อ 1 คน หรือ 26,000 คนต่อปี ในขณะที่กฎหมายลูกต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่ผ่านการพิจารณา จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ ขอเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้ 1.เร่งผลักดันกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น ห้ามขายเหล้าปั่น ควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ห้ามดื่มในรถหรือท้ายกระบะและห้ามดื่มในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้มีผลในการบังคับใช้โดยเร็ว 2.เร่งออกมาตรการจัดสรรส่วนแบ่งค่าปรับ จากความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. เร่งผลักดันการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. เร่งแก้ไขปัญหาตราสินค้าของ น้ำดื่ม โซดา บางยี่ห้อที่คล้ายคลึงกับตราสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเร่งบังคับใช้กฎหมาย กับกิจกรรมส่งเสริมการขายและการโฆษณาที่ผิดกฎหมายในคอนเสิร์ต 30 ปีคาราบาว และคอนเสิร์ตอื่นๆ 5.เร่งบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่นายวิทยากล่าวว่า จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายพิจารณาเรื่องนี้โดยตรง เพราะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องการห้ามดื่มในท้ายกระบะรถเห็นด้วยเพราะถือว่าการดื่มแล้วขับเป็นเรื่องอันตราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กฎกระทรวง ระเบียบประกาศที่จะออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ สมัย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีทั้งหมด 6 ฉบับที่รออนุมัติประกอบด้วย 1.เรื่องการห้ามขายเหล้าปั่น 2.การห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร 3.การกำหนดสถานที่ หรือบริเวณที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนท้ายรถกระบะ 4.การติดภาพฉลากคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์ 5.ห้ามขายในสนามกีฬาของรัฐโดยเด็ดขาด จากเดิมยกเว้นในสโมสรที่มีร้านขายประจำ ให้กำหนดคล้ายๆ สถานศึกษาที่ห้ามขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด นอกจากนี้ในส่วนของสนามกีฬาของเอกชนกำหนดห้ามขายเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขโดยสามารถขายได้ในสโมสรของสนามกีฬานั้นๆ และ 6.ห้ามขายและดื่มในโรงงานอุตสาหกรรม

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code