เครือข่ายรพ.ชายแดน ส่งจม.พบ ผอ.สำนักงบฯ

ทำความเข้าใจจุดยืนการให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี

 

 

 เครือข่ายรพ.ชายแดน ส่งจม.พบ ผอ.สำนักงบฯ

           เครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน เตรียมส่งจดหมายถึงผอ. สำนักงบฯ ขอเข้าพบทำความเข้าใจจุดยืนการให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคล 4.5 แสนคน แค่ 1 ใน 5 ของผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคลทั้งหมด นพ.วรวิทย์วอนขอความเป็นธรรมเพื่อคนไทยด้วยกัน เผยของบประมาณสมเหตุสมผลตามภาระงาน

 

            เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นพ.วรวิทย์  ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รมว.สาธารณสุข เตรียมนำมติสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เสนอให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีให้กับกลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคล จำนวน 457,409 คน เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้เครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อขอเข้าพบทำความเข้าใจแนวทางการแก้ปัญหา และชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่  อย่างไรก็ตาม เครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน ทราบดีว่างบประมาณของประเทศมีจำกัด แต่คนกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่เคยได้รับสิทธิทางสุขภาพมาก่อน อีกทั้งการพิสูจน์สถานะเกือบเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไม่ควรปล่อยให้คนกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่ยากจน เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เพราะจะกลายเป็นภาระในอนาคต เมื่อป่วยหนักก็ต้องมีค่ารักษามากกว่า

 

             การที่รัฐบาลไม่อนุมัติให้สิทธิหลักประกันสุขภาพของบุคคลผู้รอการพิสูจน์สถานะ จึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการด้านสาธารณสุขของโรงพยาบาลในเขตแนวชายแดนอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมา มีการนำเสนอแนวคิดการให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีของประชาชนกลุ่มนี้ต่อ ครม. หลายครั้ง แต่มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันหลายประการ ทำให้ความเข้าใจในสถานการณ์ของพื้นที่ต่างกัน โดยหวังว่าสำนักงบประมาณจะมีจุดยืนเดียวกันในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน ในการสนับสนุนการจัดหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนคนไทยและผู้ที่รอการพิสูจน์สถานะบุคคลนพ.วรวิทย์ กล่าว

 

            นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า เครือข่ายโรงพยาบาลชายแดน เชื่อว่าการให้หลักประกันสุขภาพคนไทยที่รอการพิสูจน์สถานะ จำนวน 457,409 คน คิดเป็น 1 ใน 5 ของผู้รอพิสูจน์สถานะบุคคลที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพทั้งหมด โดยใช้งบประมาณหัวละ 2,067.40 บาทมีความสมเหตุสมผลกับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น หากไม่มีการป้องกันเมื่อป่วยหนัก ภาระหนักจะตกอยู่ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาล ที่ต้องแบกรับภาระตามหน้าที่ที่ต้องรักษาเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ทำให้โรงพยาบาลชายแดน มีหนี้สินจำนวนมาก และมีอัตราการพัฒนาที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น เพราะต้องนำงบประมาณไปแบ่งปันสำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนไทยในพื้นที่ให้ได้รับบริการต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพราะมีงบประมาณจำกัด

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update 09-03-53

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code