เครือข่ายผู้นำจิตอาสา เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ข่าวสด


เครือข่ายผู้นำจิตอาสา เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน thaihealth


ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการจิตอาสานานาชาติเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดขึ้น โดยมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ภาคีเครือข่ายจิตอาสาร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติได้เปิดตัวเอกสารอาสาสมัครเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับภาษาไทยเพื่อเป็นข้อมูลและแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรอาสาสมัครทั่วประเทศ


นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอเอกสาร จิตอาสาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Volunteering for The  Sustainable Development Goals) ในรูปแบบ ภาษาท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของจิตอาสาที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) หรือที่เรียกกันว่า เป้าหมายระดับโลก (Global Goal) เพื่อขจัดความยากจนต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ภายในปี 2573 ได้รับการรับรองจากผู้นำระดับโลก ในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 เป้าหมายระดับโลกนี้ มีความเป็นสากล ครอบคลุมทุกส่วนและส่งสัญญาณถึงคำมั่นสัญญาอย่างจริงจังที่มีต่อผู้คนและโลก


พระอาจารย์วินย์ สิริวฑฺฒโน ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผู้นำจิตอาสาด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กรรมการเครือข่ายจิตอาสาองค์กรผู้แทนสมาคมส่งเสริมจิตอาสา นานาชาติประจำประเทศไทย (International Association for Volunteer Effort) กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจและกำลังวางแนวทางการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมาย อย่างไรก็ตามรายละเอียดการพัฒนาที่ยั่งยืนยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในกลุ่มองค์กรอาสาสมัครในประเทศไทยมากนักเมื่อเทียบกับการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) เชื่อมโยงระหว่าง อาสาสมัครกับเป้าหมายอย่างชัดเจน แม้หน่วยงาน ที่ส่งเสริม SDGs ในประเทศไทยส่วนมากยังไม่เห็นความสำคัญและเชื่อมโยงจิตอาสาไปสู่การมีส่วนร่วมสำคัญในการบรรลุเป้าหมายระดับโลก จึงได้มีการหารือร่วมกันกับองค์การอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติ ในการแปลเอกสารดังกล่าวเป็นภาษาไทย


เอกสารที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมีทั้งหมด 3 ชุด ชุดแรกนำเสนอข้อมูลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการ ในรูปแบบถาม-ตอบ  ชุดที่สองให้ข้อมูลเกี่ยวกับจิตอาสาและเป้าหมายระดับโลก นำเสนอความสำคัญข้อมูลภาพรวมของอาสาสมัครในฐานะที่เป็นตัวนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนปฏิบัติ พ.ศ. 2559-2573 เพื่อบูรณาการกิจกรรมอาสาสมัครสู่สันติภาพและการพัฒนา และเอกสารชุดที่สามนำเสนอข้อมูลความเป็นจิตอาสากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบเจาะลึก


"เอกสารจิตอาสาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในคู่มือสำหรับองค์กรจิตอาสาและอาสาสมัครหลายล้านคนในประเทศไทย ได้เรียนรู้รายละเอียดและเข้าใจความเชื่อมโยงของงานจิตอาสาและเป้าหมายระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อนำไปเป็นประโยชน์กับการทำงานบรรลุเป้าหมายระดับโลก รวมทั้งสร้างการมี สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี" พระอาจารย์วินย์ กล่าว


เครือข่ายผู้นำจิตอาสา เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน thaihealth


โครงการได้จัดทำเอกสารอย่างละ 5,000 ชุด เพื่อเผยแพร่ไปยังเครือข่ายทั่วประเทศพร้อมจัดเวทีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับภูมิภาคเพื่อให้เครือข่ายผู้นำจิตอาสาในประเทศไทยได้เรียนรู้ ประสบการณ์การทำงานจิตอาสานานาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน ผู้แทน IAVE ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิก JTS (Join together Society) เครือข่ายส่งเสริมจิตอาสาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในเกาหลีใต้ กลุ่มฮันซาลิม (Hansalim) เครือข่าย สหกรณ์ผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ เครือข่าย iVolunteer จากอินเดีย สำหรับประเทศไทยมีสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนจากมูลนิธิมั่นพัฒนา นำเสนอรูปแบบการทำงานจิตอาสาของไทย เพื่อให้ต่างชาติเข้าใจหลักการทำงานจิตอาสาตามแนวคิดศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังมีผู้แทนจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เครือข่าย บ้านดินไทย มูลนิธิครอบครัวพอเพียง ธนาคาร จิตอาสา ธนาคารน้ำใต้ดิน ชมรมคนรักในหลวง เครือข่ายหมอวิถีบ้านบ้าน ฯลฯ เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเสวนาในระดับภูมิภาคครั้งนี้


จากข้อมูลรายงานคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ปี 2560 เรื่อง "การปฏิรูประบบงานอาสาสมัครในภาครัฐ" ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนจิตอาสาในประเทศไทยมากกว่า 8 ล้านคนทั่วประเทศที่พร้อมจะเป็นแรงผลักดันและมีส่วนช่วยให้งานจิตอาสาในประเทศไทยบรรลุเป้าหมายระดับโลกที่วางไว้คือ ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 17 ที่ถือว่าจิตอาสาเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญเพื่อการพัฒนา (partnerships for the goal)


ชาลีนา มีอา ผู้จัดการภูมิภาคองค์การอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ในวาระแห่งปี 2573 กำหนดว่าวิถีดั้งเดิมของการปฏิบัติงานจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากกลไกของการมีส่วนร่วมเพื่อเอื้อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนและสามารถทำประโยชน์ต่อผู้อื่นและโลกได้ กลุ่มอาสาสมัครและองค์กรต่างๆ สามารถเป็นตัวแทนของการเข้าร่วมกิจกรรม เชื่อมโยงความคิดริเริ่มระดับสถาบันด้วยการลงมือทำงานในชุมชน สิ่งสำคัญคือากรทำงานจิตอาสาจะสอดประสานเข้ากับนโยบายและแผนงานต่างๆ ที่มาจากขั้นตอนการทำแผนเมื่อรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ได้เชื่อมโยงแผนของตัวเองกับ SDGs นี่คือกุญแจดอกสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอาสาสมัครแห่งสหประชาชาติ (UN Volunteer)


ปัจจุบันมีอาสาสมัครสหประชาชาติประจำภาคสนามเกือบ 7,000 คน และมีอาสาสมัครสหประชาชาติทำหน้าที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายมากกว่า 11,000 คนทุกปี สำหรับประเทศไทย อาสาสมัครแห่งสหประชาชาติได้เซ็นลงนามข้อตกลงร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อสนับสนุนงานอาสาสมัครในกลุ่มนักศึกษา เพราะเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานจิตอาสาและพัฒนาประเทศต่อไป


"การทำงานแบบผสมผสานของชุมชน จิตอาสาทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับนานาชาติ สร้างความเข้มแข็งให้กับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและความร่วมมือในภูมิภาคของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยังช่วยกระตุ้นความสำเร็จจากจุดเล็กๆ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับ ผู้อื่นและการเข้าถึงชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร" นางชาลีนากล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code