เครือข่ายงดเหล้าร้อง ก.คมนาคม ควบคุมน้ำเมาบนรถไฟ

เครือข่ายงดเหล้า ร้อง “รมว.ชัชชาติ” ประสาน สธ.ออกประกาศห้ามขาย ห้ามดื่มน้ำเมาบนรถไฟ เหตุสร้างความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา นายธีระ วัชรปราณี   ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  กล่าวถึงกรณีที่นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกวดขันความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการรถไฟ โดยเฉพาะปัญหาการดื่มสุราบนรถไฟในหลายขบวน ซึ่งเกิดขึ้นทุกวันว่า ปัจจุบันกฎหมายห้ามดื่มสุราบนรถ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมไปถึงรถไฟ ทำให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ มีเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหา  สร้างความรำคาญในการเดินทาง ผู้โดยสารเกิดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ลวนลาม คุกคามทางเพศ

“ในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ไม่ดื่ม กฎหมายนี้จึงคุ้มครองคนส่วนใหญ่ และคุ้มครองผู้ดื่มเองด้วย  เพราะผู้ที่ดื่มสุราบนรถไฟมีความเสี่ยงสูงที่จะตกรถไฟ หรือเกิดอุบัติเหตุอื่นๆตามมามากมาย และสิ่งที่ยังพบเห็นในขบวนรถไฟ คือ การเร่ขาย ซึ่งตามกฎหมายแล้วถือว่ามีความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ทันที เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตามาตรา 30(2) ห้ามเร่ขายอยู่แล้ว” นายธีระกล่าว

ผู้จัดการ สคล.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามาตรการห้ามดื่มบนรถได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วน เนื่องจากเป็นมาตรการที่ช่วยทำให้เกิดสวัสดิภาพที่ดี ลดปัญหาทางสังคม อีกทั้งพนักงานขับรถโดยสาร ยังระบุว่า ช่วยลดปัญหาผู้โดยสารเมาในรถ รบกวนผู้โดยสารท่านอื่น และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสารบนรถไฟ และง่ายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ขอเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม ประสานงานกับคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ  หรือกระทรวงสาธารณสุข เร่งออกประกาศ ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ โดยไม่ควรมีข้อยกเว้นใดๆให้ยากในการปฏิบัติ

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมก็ควรนำกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มในรัฐวิสาหกิจซึ่งมีอยู่แล้วมาบังคับใช้ด้วยเช่นเดียวกันกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร (หมอชิต) และอู่รถเมลล์ของ ขสมก. ที่ประกาศให้เป็นสถานที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้ว  เพื่อทำให้ทุกสถานีรถไฟปลอดผลกระทบจากน้ำเมาได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายงดเหล้า ร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้เร่งออกประกาศดังกล่าวในเร็วๆ นี้

“ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความสนใจและต้องการแก้ปัญหาอย่างที่กล่าวไว้จริง ก็คงทำได้ไม่เกินความสามารถ อีกทั้งการออกประกาศหรือรณรงค์เรื่องนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมายอะไร เพียงแค่สร้างเครื่องมือให้พนักงานเจ้าหน้าที่  และเชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยผู้โดยสาร อีกทั้งยังช่วยให้เจ้าหน้าที่รถไฟทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย” ผู้จัดการ สคล.กล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code