‘เคมี’ ขวดนม-แว่นก่อโรคหัวใจ

สารสะสม เสี่ยงเบาหวาน-มะเร็ง 2 เท่า!!

 

 ‘เคมี’ ขวดนม-แว่นก่อโรคหัวใจ

          ดร.สก็อต เบลเชอร์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยซินซินเนติของสหรัฐ ศึกษาพบเคมีชื่อว่า bisphenol a ที่มีอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัว เช่น ขวดนมเด็ก กระป๋องบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม กล่องใส่แผ่นซีดีและแว่นตากันแดด อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจในกลุ่มผู้หญิงได้

 

          เคมี bisphenol a ใช้มากในภาชนะบรรจุอาหาร โดยเป็นตัวทำให้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกมีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งในการศึกษาเพื่อดูผลกระทบของเคมีดังกล่าวต่อเซลล์หัวใจของหนูเพศเมียพบว่าสามารถส่งผลเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของเซลล์ และเมื่อเติมเอสโตรเจนอันเป็นฮอร์โมนเพศหญิงลงไปดูเหมือนว่ายิ่งทำให้มีความผิดปรกติเพิ่มขึ้น

 

          ดร.เบลเชอร์เชื่อว่าเคมีดังกล่าวอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติและเกิดปัญหาอื่นๆ ที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะหลังเกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งแม้การศึกษานี้จะเป็นเพียงเนื้อเยื่อของสัตว์เพศเมีย แต่สะท้อนได้ว่าผู้หญิงอาจได้รับความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันได้

 

          การศึกษาล่าสุดนี้นับเป็นการค้นพบใหม่ที่เกี่ยวพันกับเคมี bisphenol a และมีความสำคัญไม่แพ้ปัญหาสุขภาพอื่นๆ หลังจากที่ผ่านมามีการค้นพบแล้วว่าเคมีดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งด้านการเจริญพันธุ์ โรคเบาหวาน มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

          นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนงานวิจัยในมนุษย์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีเคมี bisphenol a สะสมในกระแสเลือดมากกว่าระดับปรกติ มีแนวโน้มเกิดปัญหากับหัวใจ โดยวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกันเคยรายงานผลการศึกษาตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของผู้ใหญ่วัย 18 – 74 ปี จำนวน 1,455 คน พบว่าแม้ระดับเคมีจะต่ำกว่าระดับมาตรฐานที่ปลอดภัย แต่ 25% ของผู้มีสารดังกล่าวในระดับสูงสุดมีโอกาสเกิดโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานมากกว่าผู้มีเคมีดังกล่าวในระดับต่ำสุดถึง 2 เท่าตัว

 

          ขณะเดียวกันผู้ที่มีเคมีดังกล่าวสูง ยังมีความเข้มข้นของเอนไซม์ในตับสูงอย่างผิดปรกติด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตับอาจได้รับผลกระทบจากเคมีชนิดนี้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

 

update 12-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code