เข้าใจ"โลกใหม่"ลูกยุคโซเชียล
ที่มา: เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่อออนไลน์มีอิทธิพลกับวัยรุ่นอย่างมาก ผู้ปกครองหลายคนเกิดความกังวล ไม่เข้าใจ และรู้สึกว่าเมื่อลูกต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับสื่อออนไลน์แบบนี้จะเกิดผลไม่ดีกับลูก
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ Bookscape เปิดเวทีเสวนาสาธารณะ "WHY WE POST : เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต" ในโครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการ สร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน ณ ห้อง 201 ที่ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สื่อของเด็กไทยในปัจจุบัน ว่า ปัจจุบันมีสื่อมากมายที่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความเป็นตัวเอง สร้างตัวตนในโลกออนไลน์สร้างการยอมรับในสังคม และต้องอยู่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับเทคโนโลยีกับเด็ก คือ ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า ลูกต้องเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธี ยอมรับในตัวตนของเด็กในมุมมองที่เข้าใจมากกว่าการคิดแทน และเปรียบเทียบตนเองกับลูก เพราะอยู่คนละยุคสมัยกัน จึงต้องเรียนรู้ไปกับลูกจะเป็นผลดีที่สุด
"สสส. จึงใช้หนังสือชุดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการรู้เท่าทันโลกดิจิทัลที่ชื่อว่า "Why We Post" เข้าใจโลกโซเชียลแบบนักมานุษยวิทยา ของ แดเนียล มิลเลอร์ ที่จะบอกพฤติกรรมของวัยรุ่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยกับการใช้อินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมของโซเชียล มีเดีย ที่สามารถสร้างสุขให้เราได้จริงหรือไม่? บทบาทของโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตอย่างไรแฝงไปด้วยข้อมูลวิจัยมากมาย และหนังสืออีกหนึ่งเล่ม คือ "it's complicated" เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต ที่บอกเล่าการใช้อินเทอร์เน็ตว่าเปรียบเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หากใช้อย่างไม่เข้าใจก็เหมือนหลุมพราง และยังสอดแทรกแนวคิดในการ มองเห็นความเป็นจริงของอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มนี้จะเป็นข้อมูลวิชาการที่ย่อยความรู้ได้ดี เพื่อเข้าสู่เวทีเสวนาที่ ชี้ให้เห็นการประยุกต์อินเทอร์เน็ตกับชีวิตจริงอย่างเข้าใจมากขึ้น" ดร. สุปรีดา กล่าว
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สสส. แนะนำว่า ผู้ปกครองและเด็กควรจะเรียนรู้ปรับตัวในเรื่องสื่อ ไม่เช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในสังคม จึงอยากให้มองสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างเข้าใจคือ "โซเชียลมีเดีย" เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนมีตัวตนเหมือนกับแต่ก่อนที่ใช้นกพิราบ แต่ปัจจุบันเป็นโซเชียลมีเดียแทน ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนหน้าจอจะไม่จางหายไป การเฝ้าระวังด้วยความเข้าใจโดยไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และการทำให้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีประโยชน์ แนะนำสื่อที่สร้างสรรค์ให้กับลูก ที่สำคัญต้องไม่บังคับเพียงแต่เสนอทางเลือกที่ดีให้เด็กเกิดการคิดวิเคราะห์เองได้
ขณะที่ นายเกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น เล่าว่า สื่อในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องทำเนื้อหาในรูปแบบออนไลน์ออกมาอีกหนึ่งช่องทาง แต่ประเด็นสำคัญคือเด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีตัวกรองในการเลือกดูสื่อ ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยแก้ไขในเรื่องนี้ได้ คือ รู้วิธีการแยกสื่อที่ดีและไม่ดี การวิเคราะห์ข่าวว่า อันไหนจริงหรือปลอม ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่เข้าใจและยิ่งต่อว่า ยิ่งห้าม เด็กจะมองว่า "โซเชียลมีเดีย" คือเพื่อนที่ดีที่สุด เพราะเด็กไม่ต่างกับผู้ใหญ่ในยุคสมัยก่อนที่ เมื่อเจออะไรคล้ายคลึงกับชีวิตก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทั้งที่จริงแล้วคนที่มีตัวตนสัมผัสได้ในชีวิตจริงต้องเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าโลกออนไลน์
เด็กวัยรุ่นกับสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องอาศัยความเข้าใจในการสอดแทรกความรู้ในการดูสื่อต่าง ๆ เพราะสื่อในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ควบคุมได้ แต่ต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ว่าสื่อไหนสอนอะไรกับตัวเด็ก มากกว่าการปล่อยให้เด็กมีเพื่อนในโลกออนไลน์ และอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชีวิตจริง เพราะคนรอบข้างไม่มีใครเข้าใจ.