เข้าสู่วัยเก๋า ด้วยสุข 5 มิติ
ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของคนเราย่อมต้องก้าวเข้าสู่ “วัยชรา” ทั้งสิ้น “วิทยาลัยผู้สูงอายุ” จึงเป็นทางออกเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ “สังคมวัยเก๋า” ได้เต็มรูปแบบด้วยกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนวัยเก๋าทั้งสุขภาพกาย จิตใจ และเพิ่มคุณค่าของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคม
วิทยาลัยผู้สูงอายุไทนาป่าแซง อยู่ในความดูแลของศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะตำบล สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สสส.) เป็นศูนย์รวมของคนวัยเก๋าที่จะมาสร้างมิตรไมตรี และพร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวดีๆ ที่ทางคณะทำงานได้จัดสรรกิจกรรมต่างๆ มาให้ โดยใช้สุข 5 มิติมาเป็นตัวหลักในการดำเนินงาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ
นายวชิระ มาประสม นายกเทศมนตรีตำบลนาป่าแซง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งวิทยาลัยผู้สูงอายุไทนาป่าแซงเพื่อต้องการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้าร่วมจะต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปจึงจะเป็นนักเรียนของวิทยาลัยได้ อีกทั้งยังให้สอดคล้องกับแผนโครงสร้างวิทยาลัยและการเพิ่มของผู้สูงอายุในตำบลเพื่อก้าวเข้าสู่ผู้สูงวัยอย่างแข็งแรง
“ตั้งแต่มีวิทยาลัยผู้สูงอายุได้เห็นความรัก ความสามัคคีของคนในตำบลทั้ง 10 หมูบ้านเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากการพูดจา พบปะถามไถ่ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันของผู้สูงอายุ และลูกหลานได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้น” นายวชิระ กล่าว
นายวชิระ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 250 คน โดยกิจกรรมที่จัดเราจะเน้นให้ผู้สูงอายุสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ สามารถดูแลตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันเหมือนเป็นการเอาความเหงา ความเศร้า ความทุกข์มาปลดปล่อยและมารับรอยยิ้มจากคนรอบข้าง อีกทั้งเราจะทำให้ผู้สูงอายุรู้จักวิธีการดูแลสุขภาพของตนเองอีกด้วย
ด้าน “หมอแอน” นวลอนงค์ ปะตะสังค์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการตำบลไทนาป่าแซง เล่าว่า วิทยาลัยผู้สูงอายุไทนาป่าแซงมีหลักการบริหารมุ่งเน้นการปฏิบัติงานกับทุกภาคส่วนในโครงการ “รวมแล้วแยก? สังคมของคนไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน” โดยเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบ “ครอบครัว” และใช้ผู้สูงอายุเป็นศูนย์กลาง โดยเปิดเรียนทุกวันพุธตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. ซึ่งในเวลาดังกล่าวผู้สูงอายุจะทำกิจกรรมสุข 5 มิติ ที่ทางคณะทำงานจัดขึ้นไว้
“หมอแอน” เล่าต่อว่า สำหรับสุข 5 มิติ ที่เป็นจุดเด่นในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย มีดังนี้
สุขสบาย เราจะเน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสมรรถภาพที่คล่องแคล่ว มีกำลัง สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพได้ตามสภาพที่เป็นอยู่ เช่นฝึกกายบริหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเคลื่อนไหว
สุขสนุก ผู้สูงอายุสามารถเลือกการใช้ชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนานด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า อาทิเช่น การเต้นรำ การทำดอกไม้
สุขสง่า เราจะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต ความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่น ยอมรับนับถือ ให้กำลังใจตนเองได้ดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีลักษณะเอื้อเฟื้อแบ่งปันและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม โดยการทำกิจกรรมกลุ่ม
สุขสว่าง ผู้สูงอายุต้องมีความสามารถด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุผล การสื่อสาร การวางแผนและการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการคิดแบบนามธรรม รวมทั้งความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกิจกรรมจะมีการเล่น จีบ เอล รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ รวมทั้งการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
สุขสงบ เราจะจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์และสามารถจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผ่อนคลายให้เกิดความสุขสงบกับตนเองได้ รวมทั้งสามารถปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง อาทิเช่น การฟังธรรมะ การนั่งสมาธิ
แม้วัยวุฒิจะสูงขึ้นแต่ผู้สูงวัยไทนาป่าแซง ก็ไม่ได้สร้างความกังวลใจให้ลูกหลาน เพราะที่นี่เตรียมพร้อมสำหรับผู้สูงอายุให้มีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ และหลักสูตรสุข 5 มิติของวิทยาลัยผู้สูงอายุไทนาป่าแซง “หมอแอน” กล่าว
นอกจากนี้ทางคณะทำงานยังมีการจัด อสม.ดูแลผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ต่างๆ ซึ่ง อสม. ของที่นี่ไม่ได้คัดเลือกมาจากคนที่เป็นมืออาชีพ แต่ได้มาจากจิตอาสาของตำบลที่มีใจรักอยากทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แล้วค่อยให้ผู้ที่สนใจอยากจะเป็นจิตอาสาเข้าไปอบรมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีกทีหนึ่งเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับจิตอาสา
นางสมคิด วงษาสาร อสม.ดูแลผู้สูงอายุไทนาป่าแซง เล่าว่า การที่เธอมาทำหน้าที่เป็น อสม.ของตำบลมันมาจากใจล้วนๆ ซึ่งถือว่าเป็นจิตอาสาอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำได้ เพราะว่าหมอในชุมชนไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงต้องอาศัยเครือข่ายอสม.ในการทำงานร่วมกัน ซึ่งอสม.จะช่วยแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ป่วย เพื่อที่พาผู้สูงอายุมารักษาทัน
อสม. สมคิด เล่าต่อว่า หน้าที่ อสม. คือการช่วยเหลือผู้สูงวัยเวลาทำกิจกรรมในวิทยาลัย เช่น การพาไปออกกำลังกาย เพราะเราเน้นให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพของตัวเองได้ รู้วิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง บางครั้งก็ลงตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน ติดเตียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยไปพบปะเยี่ยมเยือน ให้กำลังใจผู้ป่วยติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมที่วิทยาลัยได้ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ป่วยในวัยเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนในยามทุกข์ยาก
“อยากจะทำจุดนี้ จนถึงวันที่เราทำไม่ไหว หรือไม่สามารถทำงานได้ เราก็อาจจะหยุด แต่ตอนนี้เรายังทำไหว และรู้สึกดีใจที่เป็นผู้ให้ ได้ช่วยเหลือบ้านเกิดของตัวเอง เพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องหนักอะไรเราแค่ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุอาทิตย์ละครั้ง ช่วยทำแผล ตรวจเบาหวานและความดัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” อสม.สมคิด กล่าว