เข้าสังคมสูงวัย ไม่เกษียณก็มีผลกระทบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เข้าสังคมสูงวัย ไม่เกษียณก็มีผลกระทบ thaihealth


สังคมสูงวัย (Aging Society) เป็นภาวะที่สัดส่วน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปจะเริ่มที่ร้อยละ 10 ต่อประชากรทั้งหมด โดยสำหรับประเทศไทยนั้น ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยมาระยะหนึ่งแล้ว


และทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เคยคำนวณไว้ว่าเมื่อสิ้นปี 2564 หรือสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด


หากกล่าวด้วยเนื้อหาข้างต้น "ไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องไกลตัว" โดยเฉพาะในหมู่ของ "คนหนุ่มสาวที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน (อายุตั้งแต่ 24 – 39 ปี)" อาจไม่เห็นประโยชน์ของการตระหนักในเรื่องนี้และไม่เตรียมตัวรับมือ แม้กระทั่ง "คนทำงานวัยกลางคน (อายุ 40 – 49 ปี)" จำนวนไม่น้อยก็ยังคิดเห็นเช่นเดียวกัน "ไม่เป็นไร..อีกนานกว่าจะแก่ วันนี้ขอใช้จ่ายหาความสุขใส่ตัวให้เต็มที่" ตามกระแสบริโภคนิยมที่ปลุกเร้าตลอดเวลา ทั้งที่ "เวลานั้นผ่านไปเร็วนักและย้อนกลับไม่ได้" กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเสียแล้ว "ต่อไปในอนาคต ผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักคือคนที่มีอายุ 40 – 50 ปี ในวันนี้ ไม่ใช่คนรุ่นผม ถ้าจะจับกลุ่ม เป้าหมายต้องจับให้ถูก ว่าคนที่เจอปัญหาคือคนที่อายุ 40 – 50 ปี ในปัจจุบัน ไม่ใช่เกินนั้น เพราะเหตุมันจะเกิดขึ้นในอีกสิบกว่าปีที่จะเกิดปัญหาหนัก คน 40 – 50 ปี ปัจจุบัน วันนั้นคงจะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีคนออกมาจำนวนมากมหาศาล อีกสิบกว่าปีเราจะมีถึง 1 ใน 3 ของคนในประเทศที่เป็นผู้สูงอายุ คนวัยทำงานน้อยลง เด็กเกิดน้อยลงและเกิดจากคนที่ไม่ค่อยพร้อม"


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต และประธานคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย กล่าวในที่การประชุมเพื่อหาแนวทางการสื่อสารการติดตามนโยบายพรรคการเมืองเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ย่านสาทร – งามดูพลี กรุงเทพฯ ย้ำถึงวิกฤติสังคมสูงวัยที่ไม่ใช่เรื่องของคนชรา แต่เป็นปัญหาของคนวัยทำงานในปัจจุบัน


เข้าสังคมสูงวัย ไม่เกษียณก็มีผลกระทบ thaihealth


หากถามว่าจาก 4 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.สิ่งแวดล้อม 3.ด้านสุขภาพ และ 4.ด้านชุมชนและสังคม "ด้านใดที่สังคมไทยมีความเสี่ยงที่สุด?" คงหนีไม่พ้น "ด้านเศรษฐกิจ" อาจารย์เจิมศักดิ์ยกตัวอย่างคนไทยเป็นรายกลุ่ม เช่น "กลุ่มข้าราชการ" อยู่ได้ด้วยระบบบำนาญ โดยที่มาของบำนาญนั้นก็คือคนวัยทำงานจ่ายภาษีและรัฐแบ่งภาษีมาจ่ายให้ข้าราชการเกษียณ คำถามคือในอนาคตหากคนวัยทำงานลดลงเพราะเด็กเกิดน้อย สวนทางกับประชากรวัยเกษียณที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐจะหาเงินภาษีที่ไหนมาจ่าย?


เช่นเดียวกับ "กลุ่มมนุษย์เงินเดือนในระบบสถานประกอบการ" กลุ่มนี้ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม แรงงานจ่ายสมทบส่วนหนึ่ง นายจ้างส่วนหนึ่ง และรัฐอีกส่วนหนึ่ง ในอนาคตก็จะมีโอกาสเจอวิกฤติเหมือนกับระบบบำนาญข้าราชการ เมื่อผู้สูงอายุที่ต้องการใช้สิทธิชราภาพเพิ่มขึ้นแต่คนวัยแรงงานที่จะเข้ามาเป็นผู้ประกันตนลดลง ทั้งนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยทำการศึกษาแล้วพบว่าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ระบบประกันสังคมอาจถึงขั้นล่มสลายในอีก 20 ปีข้างหน้า


สุดท้ายคือ "กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ" ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่มนี้แต่เดิมไม่มีสวัสดิการใด ๆ และแม้ปัจจุบันจะมี กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เกิดขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง "มุ่งหมายให้ประชาชนออมเงินเองโดยมีรัฐร่วมสมทบ" แต่เมื่อไปสอบถามประชาชนกลับพบว่า "มีคนรู้จักน้อยมาก" มีผู้สมัครเข้าร่วม กอช. เพียง 5 แสนคน จากแรงงานนอกระบบทั้งหมดราว 20 ล้านคน


อาจารย์เจิมศักดิ์ เสนอแนะหนทางแก้ไขไว้คร่าว ๆ 2 เรื่อง คือ 1.แยกสิทธิชราภาพออกมาต่างหากจากประกันสังคมเพื่อให้แยกได้ว่าแต่ละคนจ่ายเงินสมทบเท่าไร และจะทราบได้ว่าเมื่อถึงวัยเกษียณจะมีบำนาญเท่าไร กับ 2.เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 แต่ในส่วนร้อยละ 3 ที่เก็บเพิ่มขึ้นมานั้นให้นำไปเก็บไว้ในชื่อของผู้ใช้จ่ายแต่ละคนเมื่อถึงวัยเกษียณคนทุกคนก็จะมีบำนาญเลี้ยงชีพในระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีผลดีอีกเรื่องคือ "สามารถดึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาอยู่ในระบบได้ด้วย" เพราะผู้บริโภคย่อม ไม่อยากเสียสิทธิ


เข้าสังคมสูงวัย ไม่เกษียณก็มีผลกระทบ thaihealth


"เพิ่ม VAT จาก 7 เป็น 10% แต่ 3% ที่เพิ่มไปใส่ในชื่อผู้ซื้อของ เดี๋ยวนี้เลข 13 หลักก็ดี ชิพก็ดี มันมีระบบที่สามารถทำได้ในระบบดิจิทัล แล้วพอเราอายุมาก เงินทั้งหมด 3% ที่สะสมมาในชีวิต รัฐเติมให้อีกเท่าตัวเพราะรัฐเอาเงินไปใช้ก่อน ผมลองคำนวณ เล่น ๆ เฉลี่ยจะได้คนละ 5,555 บาทต่อเดือน เป็นเงินของเราเอง ในชื่อเรา ก็เป็นอีกระบบที่น่าเอามาเสริม ไม่ใช่ระบบเดียวที่ช่วยได้หมด" อาจารย์เจิมศักดิ์ กล่าวอีกด้านหนึ่งนอกจากเรื่องออมเงินแล้ว "การจ้างงานและการเตรียมเปลี่ยนงาน" ก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเกณฑ์วัยเกษียณอายุที่ 60 ปีนั้นมีที่มาจากในอดีตคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 59 ปี แต่ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 77 ปี ดังนั้น "ควรขยายอายุเกษียณในบางอาชีพที่แม้อายุมากขึ้นแล้วยังสามารถทำงานได้" แต่ปัญหาที่พบคือ "มาตรการของกระทรวงการคลังเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการยังจ้างงานแรงงานอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจำกัดไว้ที่การจ้างงานในอัตราเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทเท่านั้น" เพราะกลัวเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานผู้สูงวัยเท่าที่ควร


ขณะที่ "การเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนงาน เมื่ออายุมากขึ้น ในสังคมไทยยังให้ความสำคัญน้อย" โดยหากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ ที่ทำเรื่องนี้ได้ดี พบว่า "คนหนุ่มสาวที่ทำงานแบบเน้นใช้แรงงาน เมื่อเริ่มย่างเข้าสู่วัยกลางคน รัฐบาลสิงคโปร์จะ ส่งเสริมให้ไปฝึกอาชีพอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเปลี่ยนงานในวันที่สังขารไม่อาจใช้กำลังได้เต็มที่อีกต่อไป" ทำให้ยังมีงานมีรายได้เลี้ยงชีพตนเองแม้เข้าสู่วัยชราแล้ว


สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ด้านหนึ่งพรรคการเมือง นักวิชาการตลอดจน สื่อมวลชน มักเน้นไปที่ "กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต" ก็ต้องบอกว่าอย่าลืม "กลุ่มคนวัยทำงาน ตั้งแต่หนุ่มสาวเพิ่งเริ่มทำงานไปจนถึงวัยกลางคนที่เตรียมเข้าสู่วัยไม้ใกล้ฝั่ง" ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ และจะเป็น ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสังคมสูงวัยในเวลาอีกไม่ไกลนับจากวันนี้ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code