เข้าวัดทำบุญ สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เข้าวัดทำบุญ สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ thaihealth


จิตเวชนครราชสีมา หนุนประชาชนเข้าวัดทำกิจกรรมวันพระช่วยสร้าง "ภูมิคุ้มกันทางใจ" เป็นมนุษย์พันธุ์จิตแกร่ง


นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา นำบุคลากรเจ้าหน้าที่ผู้ป่วยจิตเวชและญาติร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรและฟังธรรมะซึ่งจัดขึ้นในโรงพยาบาลเนื่องในวันวิสาขบูชา โดยธรรมะในวันนี้เน้น 3 เรื่อง คือ ความกตัญญู อริยสัจ 4 และสติ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวช ญาติ และบุคลากรสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะมีประโยชน์คือเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตโดยเฉพาะบุคลากรหากมีจิตใจดีจะเพิ่มคุณภาพบริการแก่ผู้ป่วยและญาติดีไปด้วย ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่อาการสงบแล้วหลักธรรมศาสนาจะช่วยฟื้นฟูจิตใจส่งผลให้การฟื้นคืนสู่สภาวะปกติเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นโดยมีนโยบายจัดกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกเดือน


ทางด้าน นางจินตนา หะรินเดช นักจิตวิทยา คลินิกชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า การเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญ ตักบาตร ไหว้พระ ฟังธรรม ทำสมาธิ ล้วนถือเป็นมงคลชีวิต สร้างจิตใจให้เป็นกุศล ซึ่งจะก่อให้เกิดความสุขและมีผลดีต่อสุขภาพจิตอย่างมาก ทั้งเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนคิดดีและกระทำดี ทั้งกาย วาจา ใจ จะนำไปสู่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางใจหรือที่วงการสุขภาพจิตเรียกว่า พลังสุขภาพจิตหรืออาร์คิว ซึ่งเป็นความเข้มแข็งทางอารมณ์และจิตใจของแต่ละบุคคล เป็นต้นทุนชีวิตที่จำเป็นต้องมีไว้ เปรียบเสมือนเป็นวัคซีนป้องกันโรคโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2562 มีจำนวน 38 ล้านกว่าคน จำเป็นต้องมีอาร์คิวในระดับที่สูงพอ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาระความรับผิดชอบสูง ต้องใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ทั้งจากการทำงาน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่วนใหญ่ทำงานสัปดาห์ละ 40-49 ชั่วโมง หากสามารถจัดเวลาเข้าวัดได้อย่างต่อเนื่องก็จะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพใจ


“อาร์คิวจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่เผชิญกับปัญหาอุปสรรคหรือวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไม่คาดฝัน ให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุขได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา ที่พบได้บ่อย เช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งปัญหานี้สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางกายได้ด้วย เช่น แผลกระเพาะอาหาร ไมเกรน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น เนื่องจากใจและกายมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เรียกกันว่า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว หากจิตใจดีมีความสุขสุขภาพกายก็จะดีตามไปด้วย


หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อประชาชนทุกคนทุกสถานะนำมายึดถือปฏิบัติแล้วจะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจโดยตรง การถือศีลทำให้จิตใจเราสะอาดจะเป็นการสร้างพื้นฐานของจิตใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมมีความรักต่อกัน มองโลกในแง่ดี มีความอบอุ่น มีความมั่นคง ส่วนสมาธิเมื่อปฏิบัติแล้วจะทำให้เกิดความสงบ สร้างสมรรถภาพทางใจ สามารถปรับตัวปรับใจในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมได้ สำหรับปัญญานั้นจะทำให้เกิดความสว่าง เป็นการสร้างคุณภาพจิตใจเป็นคนเก่ง มีความคิดก้าวหน้า มีคุณธรรม ให้ผลต่อการพัฒนาตนเองเป็นอย่างมาก


ทั้งนี้ ผู้ที่มีพลังสุขภาพจิตดีจะมีคุณลักษณะสำคัญ 8 ลักษณะ คือ 1.มีจิตใจหนักแน่น ไม่ตีโพยตีพาย เมื่อมีปัญหาสามารถสงบจิตใจจัดการกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านระงับความว้าวุ่นได้ 2.มีใจสู้ไม่ยอมแพ้โชคชะตา 3.มองตัวเองว่ามีความสามารถหลายด้าน มั่นใจตัวเอง จัดการปัญหาอย่างรอบคอบ 4.มองชีวิตว่ามีขึ้นมีลง ยืดหยุ่น ปรับตัวเองตามสถานการณ์ได้ เห็นความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา 5.มักเห็นปัญหาเป็นโอกาส 6.มีสิ่งยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งทางใจ เช่น ศาสนา เป็นต้น 7.มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนใกล้ชิดเพื่อนฝูง มีความผูกพันกับครอบครัว และ 8.มีทักษะความคิดที่ดี มองมุมบวกมองในแง่ดี หรือมองหาส่วนดีที่เหลืออยู่ ไม่ยึดติดความคิดเดิม ๆ ทิ้งความหลังและก้าวไปข้างหน้าได้ ผู้ที่มีพลังสุขภาพจิตดีสภาพจิตใจจะมีความแข็งแกร่งมีความยืดหยุ่นสูงแม้มีปัจจัยภายนอกมากระทบก็ไม่ทำให้กระเทือนถึงขั้นแตกร้าวได้

Shares:
QR Code :
QR Code