เข้าพรรษา 57 ให้กำลังใจคนงดเหล้าได้ครบ 3 เดือน

          เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชวนคนไทยคืนความสุขให้ครอบครัว

/data/content/24970/cms/e_afgjnpsvw468.jpg

           ด้าน รองผู้ว่าฯ กาญจนบุรี พร้อมหนุนพระสงฆ์และประชาคมร่วมสกัดนักดื่มหน้าใหม่ที่พุ่ง 2.5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน มีโอกาสติดเหล้า ร้อยละ 70 เร่งปลุกกระแสก่อนเข้าพรรษา ชวนคนไทยร่วมส่งใจชวนช่วยชมคนงดเหล้าให้ครบ 3 เดือน

          วันที่ 3 ก.ค. 57 ที่ วัดวังขนายทายิกายาราม ต.วังขนาย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ จัดเวทีเวทีประชุม “โครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก ครั้งที่ 2” และแถลงข่าว “พระนักพัฒนา ให้กำลังใจคนงดเหล้าจนครบพรรษา ทำให้วัดปลอดการขายหวย” ขับเคลื่อนนโยบายงดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “สัญญางดเหล้าเข้าพรรษา… ร่วมให้กำลังใจคนงดเหล้าให้ครบ 3 เดือน” เพื่อเตรียมความพร้อมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาของภาคีศาสนาและนักรณรงค์ทั่วประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงาน โดยมี พระครูสุวรรณโพธิวรธรรมและนายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าฯ กาญจนบุรี ร่วมเป็นประธานในพิธี

          นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผู้ว่าฯกาญจนบุรี กล่าวว่า ภาครัฐโดยกระทรวงมหาดไทย ได้สนับสนุนและร่วมมือกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าในการร่วมรณรงค์งดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบันมีคนที่งดเหล้าเข้าพรรษาเพิ่มจากร้อยละ 15 ในปี 2546  เป็นร้อยละ 60 และผู้งดเหล้าตลอด 3 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ประหยัดเงินได้ 2-3 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรม ลดปัจจัยการเกิดโรคได้ถึง 200 โรค

          โดยผลการวิจัยความรุนแรงในครอบครัว พบว่าครอบครัวดื่มสุรามีความรุนแรงเกิดขึ้นเกือบ 4 เท่า ของครอบครัวที่ไม่ดื่ม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง สถิติหย่าร้างสูงกว่า 60,000 รายต่อปี  ปัจจุบันประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่ปีละ 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน โดยตั้งเป้าจะลดนักดื่มหน้าใหม่ อายุ 15-19 ปี จากร้อยละ 14 ในปี 2554 ให้เหลือร้อยละ 13 ในปี 2557 เพราะเยาวชนเหล่านี้จะตกเป็นลูกค้าของบริษัทเหล้า มีโอกาสติดเหล้าถึงร้อยละ 70 ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพประชากรในประเทศระยะยาว

/data/content/24970/cms/e_bghklnqruv34.jpg

          เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้เตรียมการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ในหัวข้อ “สัญญางดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อตัวเองและครอบครัว” โดยมีแนวคิดสำคัญให้ครอบครัวร่วมกัน ชักชวนให้มีการ “สัญญางดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมให้กำลังใจคนงดเหล้าให้ครบ 3 เดือน” เพื่อเชื่อมประสานการทำงานระหว่างคณะสงฆ์ ภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าในพื้นที่และการประกาศด้านนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 ตามมติมหาเถรสมาคม กระผมขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน ร่วมมือร่วมใจกันงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา เริ่มต้นในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ เพื่อเป็นกุศลทั้งต่อตนเอง และครอบครัว ที่สำคัญขอให้ทุกท่านได้ร่วมมือ ชวน ช่วย ชมให้คนงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ ได้มีกำลังใจในการงดเหล้าจนครบสามเดือนและตลอดไป

          พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม กล่าวว่า สถาบันหลักที่ค้ำชูสังคมไทยประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สำหรับศาสนาเอง คุณค่าของศาสนา นอกจากหลักธรรมแล้ว ก็คือ วัดกับพระสงฆ์ ที่ผ่านมา สังคมไทย ได้เจริญก้าวหน้าด้วยมีหลักศาสนาเป็นแกนในการหนุนเสริมตลอดมา ทั้งด้านการศึกษา-เผยแผ่-การกล่อมเกลาทางศีลธรรม ผ่านทุนที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือของบทบาทของพระสงฆ์ ผ่านพิธีกรรม กิจกรรมและเทศกาลต่างๆ ในการกำหนดเป็นจุดเริ่มต้นของการทำดี เช่น วันสำคัญทางศาสนา วันเข้าพรรษา หรือแม้แต่ในประเพณีเนื่องด้วยศาสนาต่างๆ เป็นต้นว่า งานบุญกฐิน งานผ้าป่า งานศพและงานบวช

          อย่างไรก็ตาม ในช่วยระยะที่ผ่านมา ปรากฏว่า ลักษณะการดื่มเหล้า เบียร์ ไม่เพียงแต่ดื่มกันในทุกสถานที่และทุกเวลาเท่านั้น แต่ยังลุกลามเข้าไปสู่เขตพุทธสถาน เช่น ลานวัด ศาลาศพ ศาลาพัก โดยอาศัยงานบุญประจำปีและงานประเพณีอื่นๆ เช่น งานกฐิน ผ้าป่า งานบุญประจำปี งานบวช งานศพ เป็นสื่อ ทั้งๆที่ การห้ามดื่มเหล้าเบียร์ ถือเป็นหลักปฏิบัติ 1 ในศีล 5 ข้อที่ชาวพุทธควรปฏิบัติให้เข้มข้น นี่เป็นปัญหาโดยตรง ด้วยปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการพัฒนางานณรงค์งดเหล้าให้บรรลุผลเร็วยิ่งขึ้น ควรต้องมีการการนำต้นทุนและศักยภาพพระสงฆ์ ทั้งด้านความเป็นผู้นำ มีบารมี ได้รับการยอมรับจากชุมชนมีผลในการโน้มน้าวใจให้เกิดการคล้อยตามและให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ ด้านการเป็นนักประชาสัมพันธ์ผ่านการเทศน์ การอบรม การให้คำปรึกษา และด้านการเป็นพระนักพัฒนาที่ช่วยเหลือสังคมผ่านกิจกรรมใหม่ๆ ทันสมัยและพึ่งพาแก้ปัญหาได้จริง

          นายประญัติ เกรัมย์  ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า ในปีนี้ เป็นการรณรงค์ปีที่ 12 นี้ จะมีหมู่บ้านและวัดร่วมรณรงค์อย่างจริงจัง 350 แห่งทั่วประเทศ และหวังว่าจะทำให้มีคนงดเหล้าครบ 3 เดือนเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนกลับมาดื่มระหว่างพรรษา ประมาณร้อยละ 20 สาเหตุเพราะต้องเข้าสังคม ดังนั้น บทบาทคณะสงฆ์และภาคประชาสังคม คือการช่วยเร่งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการจำกัดสถานที่ดื่ม ขาย  ซึ่งภารกิจหลังจากวันนี้ คณะสงฆ์พระนักพัฒนาจะได้นำตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์งดเหล้าและการทำวัดเป็นเขตปลอดเหล้าและการพนัน ไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่อื่นๆ ที่มีแนวคิดจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่อเนื่องไปยังโอกาสอื่นๆ ได้อีก

 

 

          ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยฝ่ายประสานงานภาคีศาสนา สคล.

Shares:
QR Code :
QR Code