เข้าพรรษาทุกปี คือวันงดดื่มสุราแห่งชาติ

 

 

          สังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่าวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่แทรกซึมอยู่ในทัศนคติ จนทำให้ผู้คนในสังคมมองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ ทัศนคติแบบนี้ส่งผลทำให้เกิดแบบแผนในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของวิถีชีวิตของผู้คน อาทิเช่น งานบุญประเพณี งานแต่งงาน งานบวช งานศพ งานวันเกิด เป็นต้น รวมถึงทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ภาวะความกดดัน ความเครียด ความเสียใจ ความดีใจที่ต้องมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสมอมา

 

          วัฒนธรรม ความเชื่อ และทัศนคติเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นส่งเสริมให้มีการบริโภคจำนวนมาก เพื่อนำมาสู่การมีกำไรสูงสุด โดยธุรกิจแอลกอฮอล์ได้มีความพยายามขยายช่องทางการขายสินค้า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม รวมถึงด้านการส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจดังกล่าวมีการโหมใช้สื่อการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การโฆษณาผ่านวิทยุ โทรทัศน์ เพลง หนัง ละคร เป็นต้น

 

          รวมถึงมีการส่งเสริมการขาย การใช้พนักงานขาย การตลาดขายตรง และการจัดกิจกรรมการตลาด ทำให้คนในสังคมยิ่งมองว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมานาน และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต นำมาซึ่งผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่อคนทุกกลุ่มในสังคมไทย โดยเฉพาะผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาอุบัติเหตุ สุขภาพ ความรุนแรงทางเพศ และในครอบครัว อาชญากรรม การสูญเสียด้านเศรษฐกิจ การทะเลาะวิวาท การตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์ ปัญหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น

 

          จากการศึกษาของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า ต้นทุนที่เกิดจากการสูญเสียด้านเศรษฐกิจในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2549 มีมูลค่า 156,105 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.99 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 2,391 บาทต่อคน

 

          ทั้งนี้พบว่าต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนมูลค่ามากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 95.8 ของต้นทุนทั้งหมด ต้นทุนที่มีมูลค่าสูงสุดได้แก่ ต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (104,128 ล้านบาท) ต้นทุนการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการขาดงาน และสูญเสียประสิทธิภาพขณะทำงาน (45,464.6 ล้านบาท) ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล (5,491 ล้านบาท) ต้นทุนทรัพย์สินที่เสียหายจากอุบัติเหตุจราจรทางบก (779 ล้านบาท) ต้นทุนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย และฟ้องร้องคดี (242 ล้านบาท) ต้นทุนที่เกิดขึ้นที่ศาล(159 ล้านบาท) สถานีตำรวจ (86 ล้านบาท)

 

          พบว่าในปี 2549 มีผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น 3,029,427 คน โรคที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล คือ อุบัติเหตุจากการจราจรทางบก (1,232 ล้านบาท) โรคเอดส์ (1,088 ล้านบาท) การใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิด (574 ล้านบาท) ลมชัก (537 ล้านบาท) ภาวะติดสุรา (430 ล้านบาท) คน เมื่อเทียบกับการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิตในปี 2549 พบว่า เก็บภาษีได้เพียง 72,871 ล้านบาท

 

           หากเปรียบเทียบต้นทุนการสูญเสียด้านเศรษฐกิจกับภาษีที่เก็บได้มา นับว่าไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่สังคมไทยได้สูญเสียไป ซึ่งต้นทุนการสูญเสียด้านต่างๆรัฐบาลเป็นผู้จ่ายจากการเก็บภาษีของประชาชน แต่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

          ดังนั้น ภาคประชาชนจึงได้มีการรณรงค์ให้ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ตระหนักถึงผลกระทบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาสู่การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงมีกลไก และมาตรการทางกฎหมายในการลดปัญหาที่เกิดขึ้น

 

          สำหรับการณรงค์ให้มีวันงดดื่มสุราแห่งชาตินั้น ความหวังครั้งแรกที่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะสำเร็จ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 (วันเข้าพรรษา ปี 47) มีการรวมตัวของภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าหลายหมื่นคน จาก 200 องค์กร ที่ท้องสนามหลวง เพื่อเตรียมประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลในสมัยนั้น ก็ไม่ได้ดำเนินการตามเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน การรวมตัวกันครั้งนั้นจึงกลายเป็นการรวมพลคนงดเหล้าเข้าพรรษา นับเป็นการรวมพลครั้งใหญ่ที่สุดในการประกาศเจตนารมณ์ต่อเรื่องนี้ และทุกๆ รัฐบาลหลังจากนั้นภาคประชาชนก็ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำได้เพียงการร้องขอที่ไม่มีเสียงตอบรับจากผู้ที่มีอำนาจ

 

          ในปี 2551 ความพยายามผลักดันให้มีวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยในวันที่ 7 กรกฎาคม เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิเมาไม่ขับและภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เข้าพบนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช เพื่อเรียกร้องให้มีวันดังกล่าว ซึ่งในวันต่อมา (8 กรกฎาคม 2551) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ กำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ โดยให้เริ่มต้นในวันที่ 18 กรกฎาคม 2551 (วันเข้าพรรษาของปีนั้น)

 

          มติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ถือได้ว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับปัญหาผลกระทบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน แก้ไข และควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรต้องเป็นเจ้าภาพหลัก รณรงค์ในวันงดดื่มสุราแห่งชาติของทุกๆ ปี เช่น การมีแผนงานและงบประมาณให้ทุกจังหวัด จัดรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงผลกระทบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับหน่วยงานต่างๆ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งอาจรวมไปถึงการรณรงค์เชิญชวนเข้าสู่การงดเหล้าเข้าพรรษาอีกทางหนึ่งด้วย โดยระยะยาวอาจจะขยายการรณรงค์ไปสู่กระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการรณรงค์ในสถาบันการศึกษา หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

 

          ที่สำคัญควรมีการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และการปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป สุดท้ายนี้ ข้อกังวลที่ว่า จะมีใครสักกี่คนที่รับรู้ว่า วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ในปีนี้ คือวันที่ 8 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา และวันนั้นมีความสำคัญอย่างไร คำตอบที่ได้คงล่องลอยอยู่ในสายลมต่อไปตราบใดที่ภาครัฐยังไม่ตื่นจากภวังค์เสียที

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update 09-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ