“เข้าป่า” ระวังไข้มาลาเรีย
จังหวัดสุรินทร์ เตือน คนหาของป่า ตำรวจตระเวนชายแดน เสี่ยงไข้มาลาเรีย
นางสาวกัญญรัตน์ เกียรติสุภา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา ว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายป่าและจังหวัดที่อยู่แนวชายแดน คนหาของป่า หรือตำรวจตระเวนชายแดน มักมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นพาหะของโรค หลังกลับจากปฏิบัติงาน หรือ พักค้างแรมในป่า หากมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยทันที
โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ หากได้รับเชื้อแล้วอาการป่วยจะมี 3 ระยะ คือ ระยะหนาว จะมีอาการหนาวสั่น ผิวหนังเย็นซีด คลื่นไส้อาเจียน จากนั้นจะเข้าสู่ ระยะร้อน อุณหภูมิร่างกายสูง 39-40 องศาเซลเซียส ลมหายใจร้อน หน้าผิวหนังแดงและแห้ง คลื่นไส้อาเจียน กระหายน้ำ บางคนจะมีอาการกระสับกระส่าย ถ้าเป็นเด็กอาจชัก และจะเข้าสู่ ระยะเหงื่อออก อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว เหงื่อออกทั่วตัว ไม่มีไข้ กินเวลา 1-2 วัน แล้วแต่ชนิดของเชื้อและจะจับไข้อีก การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายมิดชิด ทายากันยุงที่ผิวหนัง นอนในมุ้ง
สำหรับในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย ควรนอนในมุ้งชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง หากไปพักค้างแรมในป่าหรือบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรีย แล้ว หลังกลับมาควรสังเกตตนเองว่าหากมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยทันที
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต