เข้าป่าฤดูฝนระวังไข้มาลาเรีย

/data/content/24965/cms/e_abdfilmnov57.jpg


          สธ.เตือนประชาชนระวังป่วยโรคมาลาเรีย-ไข้จับสั่นช่วงฤดูฝน เผย 6 เดือนปีนี้ป่วยแล้วกว่า 10,000 ราย แนะผู้ที่เดินทางเข้าไปในป่าเขาต้องป้องกันตัวเอง


          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังโรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 13 มิ.ย.57 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 11,036 ราย มากที่สุดที่ภาคใต้ 3,745 ราย รองลงมาภาคเหนือ 2,946 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,837 ราย ต่ำสุดที่ภาคกลาง 1,508 ราย จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี ตาก ยะลา สงขลา และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวโน้มโรคมาลาเรียจะพบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี จังหวัดเดียวพบ 2,384 ราย คิดเป็นร้อยละ 84 ของทั้งภาค สูงกว่าปี 56 กว่า 8 เท่าตัว ที่พบผู้ป่วยเพียง 289 ราย ขณะนี้จึงได้สั่งการให้ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรคมาลาเรียอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นสวนหรือผู้ที่มีอาชีพเก็บของป่า เสี่ยงถูกยุงก้นปล่องตัวการแพร่เชื้อมาลาเรียกัดได้ และจัดระบบการตรวจและรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็วลดอาการรุนแรง


          ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อประจำถิ่นในประเทศเขตร้อน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค เชื้อที่พบในไทยที่ตรวจพบมากในปีนี้คือ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ซึ่งอาการป่วยจะปรากฏหลังถูกยุงกัด 10-14 วัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่เรียกว่ามาลาเรียขึ้นสมอง ปวดศีรษะรุนแรง ตับโต น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมาลาเรีย จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และหากป่วยด้วยโรคนี้ครั้งแรกจะมีอาการรุนแรง เพราะยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรีย แต่หากติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง อาการมักจะไม่รุนแรง ดังนั้นประชาชนควรป้องกันอย่าให้ยุงกัด และไม่ควรกินยาป้องกันล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีผลในการป้องกัน ภายหลังกลับจากป่า ถ้ามีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ขอให้นึกถึงโรคมาลาเรีย และรีบพบแพทย์รักษาทันที


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์


             ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code