เขียนใจให้เป็นเพลงต้องสร้างใจรักในงาน

เป็นสิ่งที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในทางดีงามทั้งแก่ตัวเองและสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเป็นด้านใด ไม่ใช่แค่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุขกายใจแค่รู้สึกสัมผัส แต่ได้มากไปกว่านั้นที่เพิ่มความสุขคือได้สร้างมูลค่าเพิ่ม หมายถึงการทำให้มีรายได้เสริมรายได้จริง

แต่ต้องไม่ทิ้งหลักที่นำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริแบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนะ อย่างน้อยที่สุดต้องไม่ตั้งอยู่ในความโลภอย่างมาก

“ผมทราบข่าวจากเว็บไซต์ สสส. (www.thaihealth.or.th) พอดีสนใจเรื่องการแต่งเพลงประกอบกับเป็นนักดนตรีอยู่แล้ว เลยอยากรู้ว่า คนที่มีพื้นฐานกับคนที่ไม่มี เวลาต้องมาทำงานร่วมกันจะเป็นอย่างไรพอทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ผมว่ามันก็โอเคนะเพราะจริงๆ ถ้าไม่มีพื้นฐาน แต่สนใจในสิ่งนั้นๆได้มาเรียนรู้ มาลองทำงานกับสิ่งที่เรารักบ้างมันเป็นเรื่องดี แล้วก็ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ฝึกสมาธิด้วย”จุลพัชร บัณฑิตพุฒ หรือตั้ม วัย 31 ปี ดูจะยืนยันความจริงข้างต้นได้ดีทีเดียว

ที่ว่าใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวและสังคม นี่ รัชพงษ์ โอชาพงศ์ หรือเฉื่อย นักแต่งเพลงตัวจริง ที่สังกัดค่าย mono music ให้คำนิยามไว้ตอนไปร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรักเสียงเพลงและรักที่จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันดังคำพูดข้างต้น

เฉื่อย จุดประกายทางความคิดผ่านคำบอกเล่าถึงการแต่งเพลงว่า ก่อประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้แต่งและสังคมไม่ว่าจะประโยชน์ทางกายและทางใจ เป็นเครื่องมือเปิดประตูรับความสุข เริ่มตั้งแต่การฝึกใช้ความละเอียดหรือจะเรียกว่าฝึกความพิถีพิถันไม่ประมาท ด้วยต้องใช้กลไกการทำงานทางความคิดค่อนข้างมาก แต่ก็เสมือนเป็นการฝึกให้เราจัดระเบียบทางความคิดของเราเองได้ดี โดยหลักเบื้องต้นของคนที่อยากจะแต่งเพลงก็คือ ฟังเพลงเยอะๆ แล้วก็เป็นคนที่มีนิสัยช่างสังเกต มีเรื่องที่อยากจะเล่า รู้จักประยุกต์ แล้วก็ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ก็จะสามารถแต่งเพลงได้

ทางพระบอกว่าใช้หลัก สุ จิ ปุ ลิ มาเป็นเครื่องมือนั่นแล้ว รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียวแต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล ไม่รู้คนรุ่นใหม่ยังพอจำโคลงโลกนิตินี้ได้หรือเปล่านะ แต่สิ่งที่เฉื่อยตั้งข้อสังเกตไว้เป๊ะเลยที่ว่า การแต่งเพลงเหมือนการออกกำลังกายทางสมอง ถ้าเราฝึกบ่อย ฝึกจนชำนาญ เราก็จะสามารถคิดออกมาได้โดยอัตโนมัติ เป็นอาชีพสร้างมูลค่าก็ได้ สร้างความสุขใจก็ได้ก็คนรักนี่ แล้วยังจะเอื้อประโยชน์กับส่วนได้อีกต่างหาก ถึงเฉื่อยจะไม่เน้นว่าทำอะไรทั้งงานจริงงานอดิเรกต้องสร้างความรักให้เกิดแก่งานนั้นๆ จึงจะทำให้มีความสุขทั้งแต่ตัวเองและคนอื่น

ไหนๆ ได้โอกาสให้ความรู้จากประสบการณ์เฉื่อยเลยลงลึกไปกับงานนี้อีกนิดหนึ่งว่าองค์ประกอบของการเขียนเพลงที่ดี สำหรับคนที่เริ่มหัด จะมี 3 ลำดับ อย่างแรกคือเขียนเพลงให้ฟังออกมารู้เรื่องก่อน สมมติเราลองแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลง ลองร้องเพลงนั้นขึ้นมาให้เพื่อนฟัง แล้วถามเพื่อนว่า เขาฟังรู้เรื่องถึงในสิ่งที่เราต้องการบอกหรือไม่ ถ้าคนฟังบอกออกมาคนละเรื่องกับสิ่งที่เราอยากเล่าแสดงว่าเราเขียนยังไม่รู้เรื่อง ต่อมาคือ ถ้าเขียนเพลงเศร้า ฟังแล้วก็ต้องรู้สึกเศร้าไปด้วยจากนั้นต้องเป็นเพลงที่ติดหูด้วย คนที่เขียนเก่งแล้ว จะต้องมี 3 อย่างนี้เป็นองค์ประกอบ

สำหรับคนที่อยากเป็นนักแต่งเพลงจริงๆ รัชพงศ์ แนะนำว่า ต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ท้อกับอะไรง่ายๆ เมื่อทำได้แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อย่าหยุด! ก้าวต่อไป …”รุ่นพี่ (เหนือวงศ์ ต่ายประยูร) ผมคนหนึ่งเคยบอกว่า เวลาเราทำอะไรบางอย่าง มันเหมือนกับการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ หรือข้ามทะเลให้ลองคิดดูว่า วันนี้เราว่ายมาถึงตรงไหนแล้วคำนวณดูว่าถ้าเราถอดใจไม่ทำแล้ว การว่ายกลับไป มันจะไกลกว่าการว่ายต่อไปข้างหน้าหรือไม่ ถ้าการว่ายกลับไป มันไกลมากกว่าการว่ายต่อไปข้างหน้า ชีวิตคุณไม่มีทางเลือกอะไรแล้ว นอกจากจะว่ายต่อไปให้ถึงอีกฝั่งหนึ่งให้ได้”

สรุปได้ชัดๆ ว่า นั่นคืองานการถ่ายทอดหัวใจให้คนอี่นซึมซับความสุขได้ในประโยคที่ว่า “เขียนใจให้เป็นเพลง” ต้องใส่ความรักในงานนั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้จริงๆ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code