‘เขลางค์นคร’ รวมพลังทำดีเพื่อพ่อ
บ่มเพาะวัคซีน..สร้างครอบครัวเข้มแข็ง
ชาวเขลางค์นครรวมพลังเปิดเวทีทำดีเพื่อพ่อ เทิดพระเกียรติในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยบ่มเพราะวัคซีนป้องกันใหัครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติเข้มแข็ง
นายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าโครงการครอบครัวเข้มแข็งเป็นหนึ่งในแผนงานพัฒนาครอบครัวไทยให้เข้มแข็งในยุคโลกาภิวัตน์ และเป็นการรวมพลังของชาวเขลางค์นคร ทำดีเพื่อพ่อในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา
สสส. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมรับผิดชอบสังคมให้มีสุขภาวะทั้งกายและจิตใจให้อยู่เย็นเป็นสุข และสิ่งเหล่านั้นก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เปิดใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ ที่สำคัญต้องเริ่มจากตัวของทุกคนในครอบครัว สู่ชุมชน ขยายผลในวงกว้างถึงแม้จะต้องเจอภาวะทุนนิยมในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ทุกคนก็ยังมีกำลังใจในการทำอย่างมีความหวัง
“สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคกระแสโลกาภิวัฒน์ครอบครัวจะอ่อนแอลง เพราะระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยอยู่กันอย่างมีความสุข ก็เกิดปัญหาจากระดับครอบครัวจนถึงประเทศชาติและขยายวงกว้างสู่ระดับโลก”
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ สสส. ตระหนักในความจำเป็นที่ต้องหาทางแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำเองได้ จึงต้องหาภาคีเครือข่าย หรือหุ้นส่วนในการทำ หนึ่งในนั้นก็คือสถาบันรักลูก ซึ่งมีเครือข่ายในพื้นที่โครงการนำร่องอยู่ 8 – 9 จังหวัดทั่วประเทศ
ฉะนั้นลำปางเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง ที่ได้นำแนวคิดครอบครัวเข้มแข็งมาผสมผสานกับองค์ความรู้และให้สอดคล้องตามวิถีของชุมชน โดยยึดหลักการเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กสุดและขยายผลสู่ชุมชนในวงกว้าง
ซึ่งจากที่ได้เริ่มโครงการมาก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีซึ่งนายสุรินทร์กล่าวว่า หลังจากทำไปแล้วต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติ คือ พลังทางปัญญา คือ ต้องให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ ชี้ทางแห่งปัญญาและนำปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พลังเชิงนโยบาย คือ ต้องสร้างนโยบายในระดับฐานรากให้แข็งแรงก่อนหรือที่เรียกว่า นโยบายสาธารณะโดยทุกคนต้องมีส่วนร่วม และ พลังทางสังคม คือ การเผยแพร่สิ่งที่ทำแล้วให้สังคมรับรู้ ขยายไปในวงกว้างอย่างยั่งยืน
คุณพันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ประธานคณะทำงานศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปาง กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2547 จากสภาพปัญหาของครอบครัว อาทิ การหย่าร้าง เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การทะเลาะวิวาท ฯลฯ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเยียวยาปัญหาดังกล่าวขึ้น ในเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากสถาบันครอบครัวรักลูก และ สสส. ด้วยหลักคิดที่ว่า “ถ้าสามารถทำครอบครัวให้เข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็ง และประเทศชาติก็จะเข้มแข็งตามมาด้วย”
คณะทำงานชุดนี้ทำหน้าที่ประสานชุมชน และนำหลักคิดข้างต้นมาผสมผสานเป็น 4 แนวคิด ประการแรก คือ หลักคิดคุณธรรม ยึดหลักการเรียนรู้ร่วมกันแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีชุมชนนำร่อง 13 ชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 6 อำเภอ เปิดเวทีให้ชุมชนได้ร่วมกันคิดตามความต้องการและสอดแทรกสาระ เช่น ความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกัน
ต่อมาคือความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ต้องให้ชุมชนตระหนักเรื่องของครอบครัวให้มากขึ้น หรือการเลี้ยงดูเด็กในแต่ละวัยที่มีความแตกต่างกันและประการสุดท้าย ชุมชนต้องเข้ามีบทบาท วิเคราะห์ถึงสาเหตุและปัจจัยของปัญหาที่เกิดขึ้น เท่าที่ผ่านมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากมายไปในทางที่ดี ครอบครัว ชุมชนมีความรัก ความเอื้ออาทรกันมากขึ้น
ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหกรรมรวมพลังชาวเขลางค์นครสรรสร้างความเข้มแข็งครอบครัวถวายองค์ราชัน ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่พวกเราได้ทำดีเพื่อพ่อ และยังเป็นการเปิดเวทีให้ครอบครัวชุมชนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันให้ผู้อื่นได้ร่วมเรียนรู้ด้วย และจากการทำงานร่วมกันพบว่าชาวบ้านเขาต้องการให้รื้อฟื้นองค์ความรู้เดิมที่เคยมีมาใช้เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงให้ครอบครัวและคนในชุมชนเข้าใจ และเอื้ออาทรกันมากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือประเพณี “ตานต้อด” ประเพณีพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนที่ขัดสนปัจจัยสี่ ขาดที่พึ่งพาอาศัย เช่นคนพิการ คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีลูกหลาน เพื่อลดช่องว่างของคนในชุมชน คนที่จะเป็นต้นคิดในการทำบุญตานต้อดส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีอันจะกินในชุมชน ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนและไม่ต้องการให้ผู้รับรู้ว่าใครเป็นคนให้ เหมือนปิดทองหลังพระ
นายวันชัน บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัวและผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ที่ผ่านมาถือเป็นการศึกษาวิจัยในระบบและมาตรการการแก้ปัญหา โดยยึดหลักให้ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ก้าวต่อไปจะเชื่อมต่อในส่วนขยายผลในวงกว้างตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ชุมชน โรงเรียน วัด สื่อมวลชน มาสำรวจพื้นที่สร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ เพื่อจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับบุคคลแต่ละวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนั้นแล้วก็เป็นการเปิดยุทธศาสตร์ในเชิงบวก เพื่อสร้างวัคซีนป้องกันอีกทางหนึ่งคือการเสริมแรงเพื่อลดความรุนแรง หรือเมื่อลูก คนในครอบครัว และชุมชนทำดี ก็ต้องยกย่อง ปลุกจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคม เอื้ออาทรต่อกันให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการ และเติมเต็มในส่วนที่ขาดให้สามารถยืนหยัดด้วยตัวเขาเอง และที่สำคัญคือ ต้องหาตัวอย่างความดีมานำเสนอเพื่อตอกย้ำให้เกิดแรงจูงใจในการทำดีในสังคมให้มากขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 11-03-52