‘เก๋า’ แต่เท่าทันดิจิทัล
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
โลกดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ใช่เป็นโลกของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างเดียว สำหรับ "ผู้สูงอายุ" เอง ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน
ไม่เชื่อ ก็ต้องฟังจากปากของ "ป้าแป๋ว" แบ็คแพ็คเกอร์วัย 64 ปี ที่ยัง ใช้ชีวิตตามวิถีของฮิปสเตอร์เดินทาง ไปเที่ยวต่างประเทศด้วยตัวคนเดียว ที่ช่วยคอนเฟิร์มในเรื่องนี้ว่า โลกยุคไอที มีความสำคัญกับผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะช่วยให้เราก้าวตามโลกนี้ได้ทัน ทำให้โลกกว้างขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น หรืออย่างการเดินทางไปท่องเที่ยวของตนเอง ซึ่งดำเนินการเองทุกอย่างทั้งจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พักต่างๆ ก็อาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ในการช่วยเหลือ ซึ่งหากทำไม่เป็นก็ต้องลำบากคนอื่น
"ผู้สูงอายุโดยเฉพาะวัยเกษียณแล้วแนะนำว่าไม่ควรอยู่เฉย เพราะหากนั่งกินนอนกินอยู่บ้าน คงไม่ดีต่อสุขภาพ หากลองมาเดินทางไปท่องเที่ยวจะดีกับสุขภาพมากกว่า ยิ่งเป็นคนผมสีดอกเลาก็ยิ่งเดินทางได้ง่าย เพราะจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการผ่านแดน การไปต่างประเทศทำให้ได้เดินมาก เดินเยอะ ก็ถือเป็นการออกกำลัง อย่างป้านี่ไม่มีปัญหาสุขภาพเลย ปีหนึ่งก็ไปประมาณ 5-6 ทริป" ป้าแป๋ว หรือ กาญจนา ปันทุเตชะ อดีตนักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค ที่เกษียณอายุราชการ แต่ปัจจุบันกลายเป็นคนดังในโลกออนไลน์ ที่ทุกคนรู้จักกันดี บอกเล่าเรื่องราว
แต่ก่อนจะมาเป็นผู้สูงวัยที่สตรองพร้อมเดินทางท่องเที่ยวนั้น ป้าแป๋วเผยว่าตนเองต้องเตรียมตัวตั้งแต่เป็นวัยทำงาน เพราะการเดินทางจำเป็นต้องใช้เงิน อย่างตนก็อาศัยเงินบำนาญและเงินเก็บส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องเก็บตั้งช่วงทำงาน อย่างตนก็ฝากเงินไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ อย่างเดือนหนึ่งก็ต้องเก็บเงินฝากประจำให้ได้ 10-20% เผื่อสำหรับการเจ็บป่วยหรือการเดินทาง เพื่อให้มีหลักประกันในอนาคต และต้องดูแลสุขภาพตั้งแต่เริ่ม
ขณะเดียวกันผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องก้าวตามให้ทันโลกและเทคโนโลยี เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุก้าวทันโลก สามารถ ค้นข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อกับลูกหลานได้
แต่ทำอย่างไร ถึงจะเป็นวัยเก๋าที่ ก้าวทันตามโลก ตามเทคโนโลยี โดยการมีสุขภาพดี ฉลาด และไม่ตกเป็นเหยื่อคนในยุคดิจิทัลได้เหมือนป้าแป๋ว?
เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนไป แต่ผู้สูงวัยปรับตัวไม่ทัน ก็อาจตกเป็นเหยื่อของ ผู้ไม่หวังดีได้ เรื่องนี้ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง "สังคมสูงวัย : ก้าวไปด้วยกัน" ครั้งที่ 2 : สังคมสูงวัยกับโลกดิจิทัล" ว่า ปัจจุบันอัตราการใช้เทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน หรือสื่อสังคมออนไลน์ ของผู้สูงอายุยังคงน้อย เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุม แต่แม้ผู้สูงอายุบางส่วนแม้จะใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้เป็น ก็มีโอกาสถูกหลอกลวงจากการใช้งานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะถูกหลอกลวงจากการโฆษณาสินค้าสุขภาพต่างๆ มากที่สุด และที่เห็นมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ การส่งข้อมูลข่าวสารโดยที่ยังไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เป็นจริงหรือไม่
"ทุกวันนี้จะพบมากในการส่งต่อหรือ แชร์ข้อมูล รูปภาพต่างๆ โดยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มไลน์ ซึ่งบางเรื่องอาจไม่เป็นความจริง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ทุกวัยก็พบปัญหาแบบเดียวกันคือ เห็นอะไรแล้วส่งต่อทันที ซึ่งขอฝากไว้ทุกเพศทุกวัย ว่าการรับข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย ต้องพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือมากแค่ไหน และต้องตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่ เชื่อถือได้ก่อนส่งต่อ" พญ.ลัดดากล่าว
สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีอย่าง หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ที่ระบุว่า ทุกวันนี้มีการแชร์ข้อมูลต่างๆ ทางโซเชียล จำนวนมาก โดยเฉพาะฟอร์เวิร์ดไลน์ที่ผู้สูงอายุมักแชร์กันมาก จึงอยากฝากว่าเวลาได้รับข้อมูลอะไรมาแล้วต้องตั้ง ข้อสงสัยก่อนว่าจริงหรือไม่ แล้วไปหาคำตอบว่าจริงหรือไม่ และไม่ควรเสพข้อมูลด้านที่เราชอบอย่างเดียวแต่จำเป็นต้อง มีการตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน