เก็บไข่ ปลูกผัก กิจกรรมนอกห้อง เสริมศักยภาพ’เด็กแอลดี’
ที่มา:มติชน
แฟ้มภาพ
การดูแล เด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ เด็กแอลดี (Learning Disabilities : LD) ถือเป็นภารกิจสำคัญของทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ เด็กกลุ่มนี้ได้มีพัฒนาการเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป
สถาบันราชานุกูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยพบเด็กแอลดีร้อยละ 6-10 หรือ 2-5 คน ในห้องเรียนที่มีเด็กจำนวน 40 คน เด็กแอลดีไม่ใช่เด็กพิการ หรือเด็กปัญญาอ่อน เพียงแต่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการอ่าน การเขียน และด้านคณิตศาสตร์ เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ได้รับตามรายหัว ของเด็ก ส่งผลให้ที่ผ่านมา โรงเรียนไม่สามารถพัฒนาการการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก้เด็กแอลดีได้มากนัก ดังนั้น หากทุกภาคส่วนช่วยกันก็จะเติมเต็มในส่วนที่ขาดนี้ได้
อย่างเช่น โครงการอุปการะเด็ก มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ที่เข้าไปช่วยส่งเสริมความรู้และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนให้กับครูโรงเรียนบ้านสันติสุขสระแก้ว อ.คำตากล้า จ.สกลนคร อีกทั้งสนับสนุนแปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้กับโรงเรียน
ปัจจุบัน "โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน" ที่โรงเรียนบ้านสันติสุขสระแก้ว คือแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เสริมพัฒนาการเด็กแอลดี
"1 ฟอง 2 ฟอง 3 ฟอง… วันนี้ผมเก็บไข่ไก่ได้ 20 ฟอง รวมกับของพี่กิตติภพ พี่ ป.5 อีก 22 ฟอง เท่ากับ 42 ฟองครับ" ด.ช.ปิยราช (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หนึ่งในเด็กที่มูลนิธิศุภนิมิตอุปการะ บอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
ปิยราชเป็นเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และมีอาการสมาธิสั้นร่วมด้วย การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่แปลงเกษตรช่วยเติมการเรียนรู้ให้จนปัจจุบันปิยราชได้กลับไปเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนปกติแล้ว
นายประจักษ์ แสนพันนา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสันติสุขสระแก้ว เล่าว่า โรงเรียนบ้านสันติสุขสระแก้ว เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนระดับอนุบาล-ป.6 ปัจจุบันมีนักเรียน 128 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กพิเศษที่มีภาวะแอลดี 17 คน และโรงเรียนใช้วิธีการจัดการศึกษาโดยรวม คือให้เด็กกลุ่มนี้เรียนร่วมกันกับเพื่อนในชั้นคนอื่นๆ พร้อมเสริมด้วยการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล
นายพิทักษ์ ชูพันธ์ ครูผู้ดูแลเด็กแอลดี และแปลงเกษตร เล่ากระบวนคิดเพื่อให้เด็กแอลดีได้เรียนรู้ว่า เพราะการสอนเสริมพิเศษและการเรียนเรียนในชั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เด็กกลุ่มนี้ได้มากนัก จึงทดลองเปลี่ยนให้เด็กมาเรียนรู้ นอกห้องเรียน นำเทคนิคที่ได้ไปอบรมมาปรับใช้ ร่วมด้วย โดยใช้แปลงเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กแอลดี
"ต้องเข้าใจว่าเด็กแอลดีเรียนรู้ได้ แต่ต้องช่วยเหลือเขาให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม ให้เด็กมีกำลังใจในการเรียนรู้ รู้จักแก้ไขปัญหา จัดการอารมณ์และควบคุมตนเองได้ ไม่เน้นที่การเรียนเพียงอย่างเดียว เด็กแอลดีทั้ง 17 คน จะมีหน้าที่รับผิดชอบในแปลงเกษตร เน้นให้เขาดูแล รับผิดชอบส่วนที่สามารถเห็นผลได้ไว เช่น ดูแลไก่ไข่ ดูแลเป็ด ทุกเช้าเมื่อเห็นไก่เป็ดออกไข่ให้เขาเก็บไปกินเป็นอาหารกลางวัน เด็กจะเกิดความภูมิใจที่เขาทำหน้าที่สำเร็จ ไข่ไก่ที่เก็บได้เขาจะต้องนับจำนวน รวมกับของคนอื่นๆ และจดบันทึกไว้ ก็เป็นการเสริมการเรียนรู้เรื่องการนับจำนวน การเขียนสัญลักษณ์แทนจำนวน การบวกรวมจำนวน การดูแลไก่และเป็ดยังค่อยๆ ปรับแก้พฤติกรรม กล่อมเกลาเด็กที่ก้าวร้าว สมาธิสั้นให้รู้จักทำอะไรอย่างสงบ ค่อยๆ เบามือ เพราะไก่เป็ดจะตื่นไม่ออกไข่ได้" ครูพิทักษ์กล่าว และว่า ส่วนแปลงผักสวนครัวจะเน้นเด็กแอลดีที่โต เพื่อจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต ค่อยๆ เฝ้าดูการเติบโตของพืชผักที่ปลูก พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวผัก จะเป็นหน้าที่ของครูคณิตศาสตร์มาช่วยเติมทักษะเรื่องการชั่ง ตวง วัด มาตราส่วน และการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
"เด็กต้องจดบันทึกสิ่งที่ปลูกและเก็บเกี่ยวได้ส่งให้ครู จากบันทึกครูจะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเขียนและการคิดคำนวณของเด็กว่ามีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นหรือไม่ เป็นการบ้านที่เด็กๆ ต้องทำส่งครูโดยไม่รู้ตัว แต่กิจกรรมนี้ก็ยังคงทำควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในชั้นเรียนด้วย ซึ่งจากการทดลองแนวทางนี้กับปิยราช พบว่าปิยราชได้มากกว่าความสนุก จากเด็กไม่ชอบกฎระเบียบ กลายเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ได้ดี ผลการเรียนก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วย" ครูพิทักษ์กล่าว
ด้าน ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิต กล่าวว่า หัวใจหลักของโครงการอุปการะเด็ก คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กให้ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพและอนามัย การปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก รวมไปถึงการส่งเสริมครอบครัวของเด็กให้เกิดความพอเพียง
"โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สนับสนุนให้เด็กในโรงเรียนห่างไกลมีแหล่งอาหารสำหรับการบริโภคอย่างเพียงพอ และถือเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตรให้เด็กไปพร้อมกันด้วย ซึ่งน่ายินดีอย่างมากที่โรงเรียนได้นำองค์ความรู้นี้ไป ต่อยอด ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กในพื้นที่" ดร.สราวุธกล่าว
ส่วนเด็กปกติอื่นๆ แม้จะต้องเรียนรู้ร่วมกับเด็กแอลดี แต่ทุกคนก็เต็มใจ เพราะครูได้ทำ ความเข้าใจกับนักเรียนทุกคน และทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือเด็กกลุ่มแอลดีตามกำลังเท่าที่พอจะทำได้
จากแนวทางนี้ ปัจจุบันมีเด็กแอลดีถึง 6 คน จากทั้งหมด 17 คน ที่สามารถกลับคืนสู่ห้องเรียนปกติได้แล้ว