เก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อระบบภาษีสุราที่ยุติธรรม
ภาษีสุราเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล เป็นรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอ สามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี ทว่าระบบภาษีสุราที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น สุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงหลายชนิด อาทิ เหล้าขาว กลับจ่ายภาษีน้อยีปิกว่าสุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำอย่างเบียร์
ระบบภาษีสุราปัจจุบันมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการบริโภคสุราของคนภายในประเทศ โดยสนับสนุนให้ผู้บริโภคดื่มสุราที่มีระดับแอลกอฮอล์สูงแต่ราคาถูก ทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมักจะเป็นผู้ใช้แรงงาน ผู้อยู่ตามชนบท รวมถึงเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวัยรุ่น มีโอกาสในการเข้าถึงสุราได้ง่าย
การกำหนดโครงสร้างภาษีนั้นจึงควรคำนึงถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากการกำหนดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสุราที่มีผลทำให้ราคาสุราที่เป็นชนิดประเภทเดียวกัน หรือทดแทนกันได้ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ถูกลักลอบเข้ามาจำหน่ายในไทย อันเนื่องมาจากราคาสุราในไทยมีราคาสูงกว่า
ระบบภาษีสุราของไทยในปัจจุบันนั้นยุ่งยาก โครงสร้างของระบบภาษีซับซ้อนเหมือนกับเขาวงกต เพราะต้องพิจารณาถึงประเภทของผลิตภัณฑ์อันแบ่งตามส่วนผสม กระบวนการผลิต และมูลค่าขายส่งที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งในที่สุดแล้วปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์แทบไม่มีผลต่อภาษีที่จ่ายหรือไม่มีผลเลย ผลเสียที่ตามมาก็คือผลิตภัณฑ์สุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทเหล้าขาว จ่ายภาษีน้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่นที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก
ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยพัฒนาอย่างรวดเร็ว ชนชั้นกลางในเมืองก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังที่นักวิชาการอย่างคุณพงษ์ศักดิ์ ฮุ่นตระกูล จากสถาบันบริหารธุรกิจศศินทร์ คุณสันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคุณบัญชร ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการภาษี เคยกล่าวไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้มีการถกเถียงกันในวงกว้างถึงความจำเป็นของการปรับแก้ภาษีสุราของประเทศไทย ภาษีสุราเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐบาลทั่วโลก และประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในขณะที่ทั่วโลกถือว่าภาษีสุราเป็นรายได้ที่แน่นอนและมีเข้ามาสม่ำเสมอ สิ่งที่สำคัญกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้กำหนดนโยบายก็คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจดื่มอย่างรับผิดชอบได้
บทความของคุณพงษ์ศักดิ์ ฮุ่นตระกูล กลคุณสันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข และคุณบัญชร ส่งสัมพันธ์ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทเบียร์และสุราหลายชนิดจะได้รับผลกระทบมากหากมีการปรับราคา นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนระบบการเก็บภาษีสุราตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มคือยิ่งปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไร ภาษีของผลิตภัณฑ์ก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น การคิดภาษีแบบนี้เข้าใจได้ง่าย แต่เหตุใดจึงเสนอแนวทางใหม่ที่ซับซ้อนอย่าง “ระบบการเก็บภาษีแบบเสมือนตามมูลค่า” ในเมื่อการปรับเป็นระบบการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์นั้นเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก และสมเหตุสมผลมากกว่า
วิธีที่ไม่ซับซ้อนคือ จัดเก็บภาษีสุราตามปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อให้สุราที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ใกล้เคียงกันจ่ายภาษีในระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสุราประเภทใด ผลิตจากที่ไหน หรือมีราคาเท่าไร ไม่จำเป็นต้องมองหาตัวอย่างที่ดีในการปรับระบบภาษีที่ไหน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มีระบบการเก็บภาษีสุราที่เรียบง่าย โดยเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์
ปีที่แล้วรัฐบาลออสเตรเลียได้เสนอแนะวิธีการใหม่ในการปรับระบบภาษี โดยใช้ภาษีอัตราเดียวเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์แอลกอฮอล์ทั่วโลกว่า ประเทศต่างๆ ควรจัดเก็บภาษีสุราตามปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อให้เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการลดอันตรายจากแอลกอฮอล์
หากระบบภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง ผู้กำหนดนโยบายของไทยจะไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบเรื่องพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น และระบบการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจดื่มอย่างฉลาดและเหมาะสมด้วยเช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์