เกาะติด…’แรลลี่วีลแชร์’เมื่อ’ล้อ’กับ’ใจ’ หมุนไปพร้อมกัน
ว่ากันว่า “สภาพใจ” สำคัญกว่า “สภาพกาย”เห็นทีจะต้องเชื่อ เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมคาราวานแรลลี่วีลแชร์ กรุงเทพฯ-พัทยา ภายใต้แนวคิด “ฮูเล่ เฮฮา พัทยา พาเพลิน” ของกลุ่ม “wheel-go-round” ซึ่งจัดตั้งโดยนักศึกษาระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีผู้สนับสนุนหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อไม่กี่วันก่อน
สถานที่ร่วมกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นสวนนงนุช, เขาชีจรรย์, อันเดอร์วอเตอร์ เวิลด์ อาร์ตอินพาราไดซ์ และโรงแรมที่เข้าพักต่างก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มวีลแชร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ ทำให้กิจกรรมครั้งนี้ได้ทั้งความสนุกสนานและความทึ่งในใจเกินร้อยของเหล่าผู้ร่วมทริปไปพร้อมกัน
บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก ททท. บอกว่า ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุและผู้พิการทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนผู้สูงอายุมีมากถึง 600 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้พิการอยู่ที่ 400 ล้านคน เมื่อหันกลับมามองตัวเลขในประเทศไทย พบว่ามีผู้สูงอายุจำนวน 8 ล้านคน และผู้พิการ 1.3 ล้านคน ที่สำคัญคือคนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต
“กลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังซื้อสูงและมักจะเดินทางมากกว่า 2 คนขึ้นไป เช่น ไปกับครอบครัวหรือพี่เลี้ยง รวมทั้งมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยว โดยไม่ต้องการเป็นภาระสังคม เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองได้ แค่ขอให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกก็พอ”
เมื่อตีโจทย์เรื่องนี้แตก ทำให้ปัจจุบัน ททท.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการสร้างทางลาดลงชายหาดและเปลี่ยนล้อวีลแชร์เป็นทุ่นลงสู่ทะเล สำหรับผู้พิการทางสายตาจะมีมัคคุเทศก์คอยบรรยายความรู้และสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น แบบที่ผู้พิการสามารถจินตนาการภาพตามได้
พัทยาได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบของ”อารยสถาปัตย์” (universal design-การออก แบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย) หรือ “พัทยาโมเดล” ตั้งแต่ พ.ศ.2552 ขณะนี้โรงแรมหลายแห่งก็เริ่มตื่นตัวตอบรับพัทยาโมเดลกันเป็นแถว หลักๆ คือการสร้างทางลาด ห้องน้ำผู้พิการ และอักษรเบรลในลิฟต์ แต่ที่ได้ใจชาววีลแชร์ที่สุดคงต้องยกให้ “โรงแรมเอ-วัน พัทยา บีช รีสอร์ท” ที่มีห้องพักสำหรับผู้พิการถึง 52 ห้อง และออกแบบทางหนีไฟเป็นทางลาด
ที่น่าดีใจอีกประการ คือ สถาปนิกผู้ออกแบบ สิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศญี่ปุ่นยังออก ปากชมว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านการรองรับ ผู้พิการและผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น
เขยิบมาพูดคุยกับแม่งานหลักอย่าง ลิปดา จารุเธียร นักศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ในฐานะหัวหน้าโครงการและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม wheel-go-round
ลิปดาเล่าให้ฟังว่า กิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมคือกลุ่มวีลแชร์และครอบครัวกว่า 40 คน ส่วนตัวคิดว่าการท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการในประเทศไทยค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะการคมนาคมสาธารณะที่ยังไม่รองรับการใช้งาน ทำให้เส้นทางการท่องเที่ยวของคนเหล่านี้ถูกจำกัด อีกทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่เอื้อต่อกลุ่มวีลแชร์ไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบและล้าสมัย
การแก้ปัญหาต้องอาศัยหลายภาคส่วนช่วยกันและสำหรับผู้ใช้วีลแชร์และครอบครัวก็ต้องมีความกล้าในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน กฤษณะ ละไล นักข่าวชื่อดัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เข้าร่วมประชุมสมาชิกอาเซียน วาระเร่งด่วนสำคัญเรื่องหนึ่งคืออารยสถาปัตย์ ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่า แต่ละประเทศจะต้องพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้พิการ โดยมีมหาอำนาจด้านอารยสถาปัตย์อย่างญี่ปุ่นเป็นพี่เลี้ยงใหญ่ และอีก 2 สัปดาห์ตนจะร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปยื่นสารต่อที่ประชุมสหประชาชาติ เพื่อบอกให้รู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วในการเป็นศูนย์กลางอารยสถาปัตย์แห่งอาเซียน
นักข่าวรุ่นเก๋าอธิบายถึงเรื่องอารยสถาปัตย์ ว่ามีคาถาสำคัญ 5 ประการ คือ 1.ก่อให้เกิดความสะดวก 2.ความปลอดภัย 3.ความเป็นธรรม 4.ความทั่วถึง และ 5.ความเท่าเทียมกัน
“ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้คือเรื่องสากล ถึงวันนี้เรายังไม่ทำ วันข้างหน้าเราก็ต้องทำอยู่ดี เหตุใดจะให้คนรุ่นหลังมาด่าว่า ไอ้คนมีอำนาจสมัยก่อนมันทำอะไรกันอยู่”กฤษณะกล่าว
ด้าน สุรชัย จีระภา ปิยะภาณีพันธ์ คู่รักวีลแชร์ขวัญใจการเดินทางในเที่ยวนี้ ได้เปิดเผยความรู้สึกให้ฟังอย่างน่าคิดสุรชัยกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้โดยรวมถือว่าดี เป็นการ
รณรงค์เพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุที่นั่งวีลแชร์ ส่วนตัวจะไปเที่ยวบ่อยมากกับภรรยาและครอบครัว ซึ่งก็พบอุปสรรคในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก อันที่จริงแค่มีทางลาดทำให้สามารถเดินทางได้สะดวก ไม่เป็นภาระของคนอื่น ก็รู้สึกเหมือนคนปกติแล้ว
“บางเรื่องก็อยากให้ดูแลมากกว่านี้ เช่น ที่จอดรถสำหรับ ผู้พิการในห้างสรรพสินค้า บางครั้งคนปกติก็เข้าไปจอด จริงๆ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยจะมีสติ๊กเกอร์ติดรถสำหรับผู้พิการ แต่ผู้พิการส่วนมากไม่ค่อยติดกัน ก็ขอให้ติด และอย่าอาย ต้องยอมรับว่าเราพิการจริงๆ คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้ดูถูก แต่พร้อมจะหลีกทางให้แก่เรา ไปไหนก็ไม่ติดขัดและได้รับการดูแล”
ขณะที่ภรรยาเสริมว่า ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเวลาเดินทาง เราโชคดีที่มีครอบครัวอบอุ่น เวลาไปเที่ยวด้วยกัน บางสถานที่ไม่สามารถนั่งวีลแชร์เข้าไปได้ ครอบครัวก็จะผลัดกันอุ้มหรือให้ขี่หลัง พลางบอกว่าต้องไปถึงจุดหมายด้วยกันให้ได้นี่คือครอบครัวที่เข้าใจ ซึ่งจีระภาเล่าให้ฟังด้วยดวงตาเป็นประกาเอาล่ะ มาช่วยกันสนับสนุนอารยสถาปัตย์ให้เป็นจริง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเหล่าพี่น้องชาววีลแชร์กันเถอะ ทุกคนมีความมุ่งมั่นและเปี่ยมพลังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ “ล้อ” กับ “ใจ” หมุนไปพร้อมกัน อะไรขวางหน้าก็ไม่เป็นอุปสรรค
แต่จะดีกว่าไหม หากเราผลักดันให้เกิด “อารยสถาปัตย์” แบบ “พัทยาโมเดล” ให้ทั่วทุกมุมเมืองให้ทุกคนได้ออกเดินทางท่องเที่ยว อย่างสะดวกปลอดภัย-เป็นธรรม-ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน
เปิดตัว’แอพพลิเคชั่น’ อำนวยความสะดวก’วีลแชร์’ “w heel-go-round” คือชื่อแอพพลิเคชั่น ซึ่งเพิ่งมีการแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ จุดเริ่มต้นของแอพพลิเคชั่นนี้ เกิดจากการที่กลุ่ม wheel-go-round ได้เข้าร่วมกิจกรรม “innovate for good” ภายใต้โครงการ youth spark ของบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้เสนอแนวคิดดังกล่าว กระทั่งกลุ่ม microsoft student partners (กลุ่มเยาวชนที่เข้าอบรมด้านเทคโนโลยีกับไมโครซอฟท์) อาสาที่จะพัฒนาโปรแกรมให้
ทั้งนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะทำหน้าที่เสมือนแผนที่นำทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับวีลแชร์ที่ใกล้ที่สุด หน้าหลักจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.สถานที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานีขนส่งมวลชน และ 2.สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์ ทางลาด ห้องน้ำ ซึ่งจะแสดงในรูปไอคอนพร้อมสีบอกระดับความน่าใช้ของสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นด้วย สีเขียวคือใช้ได้สบายมาก สีส้มคือพอใช้ได้ สีแดงคือไม่รองรับการใช้งานของวีลแชร์ และเมื่อคลิกที่ไอคอนก็จะแสดงภาพถ่ายสถานที่จริงขึ้นมาทันที
ความเจ๋งอีกอย่าง คือ ระบบ ar mode ที่เชื่อมกับระบบกล้องถ่ายรูปของโทรศัพท์ เพียงหันกล้องไปมา รอบตัว ก็จะมีไอคอนสิ่งอำนวยความสะดวกโผล่ขึ้นมาบนหน้าจอทันที นอกจากนี้ ในอนาคตมีแผนจะพัฒนาให้สามารถบอกระยะห่างระหว่างผู้ใช้กับสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นได้ และสำหรับคนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการช่วยแชร์สถานที่ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเฟซบุ๊กของกลุ่ม wheel-go-round (www.fb.com/wheelgoround)
แอพพลิเคชั่นนี้จะเปิดให้ดาวน์โหลด ในระบบปฏิบัติการวินโดว์โฟนภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ ส่วนระบบปฏิบัติการอื่นๆ อดใจรอกันอีกสักนิด รับรองว่าได้ใช้แน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ