“เกาะขันธ์” จากน้ำท่วม-แล้ง สู่ต้นแบบ “ศูนย์รับมือภัยพิบัติ”
ที่มา : แนวหน้า
ภาพโดย สสส.
มกราคม 2562..ช่วงเวลาที่พายุโซนร้อน "ปาบึก" พัดเข้าถล่มภาคใต้ของประเทศไทย โดยขึ้นฝั่งเมื่อ 4 ม.ค. 2562 ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนจะส่งผลกระทบไปอีกหลายจังหวัด ซึ่งรายงานของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปความเสียหายระหว่างวันที่ 4-6 มกราคม 2562 ไว้ที่ 23 จังหวัด 97 อำเภอ 454 ตำบล 2,887 หมู่บ้าน 133 ชุมชน ประชาชนได้รับผล กระทบ 222,737 ครัวเรือน 720,885 คน
ก่อนหน้าพายุดังกล่าว หลายฝ่ายกังวลว่าอาจซ้ำรอยเหตุการณ์ "แหลมตะลุมพุก" ในเดือนตุลาคม 2505 เมื่อพายุโซนร้อน "แฮเรียต" พัดถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช และเป็นหายนะภัยครั้งใหญ่หนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย แต่ด้วยความที่ครั้งนี้ภาคส่วนต่างๆ เตรียมตัวล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี ผลกระทบจากพายุจึงไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้
ดังตัวอย่างของ "กู้ภัยเกาะขันธ์" ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่นี่ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในท้องถิ่นของตนเท่านั้น แต่ยังขยายความร่วมมือไปทั่วทั้งจังหวัด ซึ่ง นายโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและโครงข่ายการจัดการภัยพิบัติด้วยพลังสังคมพื้นที่ภาคใต้ เล่าว่า เกาะขันธ์เป็นพื้นที่ประสบภัยไม่ว่าจากน้ำท่วมหรือภัยแล้ง จึงมีประสบการณ์ อาทิ การหาพื้นที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง สำหรับตั้งโรงครัวเพื่อผลิตอาหารไปช่วยศูนย์พักพิง ผู้ประสบภัย 1,800 ชุดได้ในเวลาจำกัด บรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่ง
"เหตุการณ์แรกที่อาสาสมัครจากเกาะขันธ์เข้าไปช่วยเหลือ คือปลายปี 2559-2560 เกิดน้ำท่วมใหญ่ใน อ.ชะอวด ไม่มีผู้เสียชีวิต และอีกส่วนหนึ่งก็ระดมความร่วมมือผลิตอาหารจากโรงครัว ไปเลี้ยงผู้ประสบภัยวันละ 2,500 คน ทาง ปภ. กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมีแนวคิดให้ตำบลต่าง ๆ มีระบบป้องกันภัยแบบ ต.เกาะขันธ์ และเกิดโครงการ การจัดการภัยพิบัติใน จ.นครศรีธรรมราช ขึ้น มีคนทำงานประมาณ 30 กว่าคน และใช้ ต.เกาะขันธ์ เป็นแม่ข่าย" นายโกเมศร์ กล่าว
จากตัวอย่างที่ ต.เกาะขันธ์ นายโกเมศร์ เล่าต่อไปว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขยายผล ฃด้วยการกำหนดนโยบาย "1 ตำบล 1 ศูนย์การจัดการภัยพิบัติ" ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ของศูนย์ ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ใช้รับมือกับภัยพิบัติได้จริง เช่น โครงสร้างการทำงาน เริ่มจากการนำระบบข้อมูล มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อกำหนดแผนการจัดการภัยพิบัติ ทั้งก่อนประสบภัย ขณะประสบภัย และหลังประสบภัย
อีกทั้งยังมีการแยกประเภทผู้ประสบภัยที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน คือคนทุพพลภาพ กลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบภัย ส่วนอาสาสมัครก็มีหลักสูตรพัฒนาอาสาสมัครในการจัดการภัยพิบัติ ที่ออกแบบร่วมกันระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกองทัพ โดยดึงภูมิปัญญา ชาวบ้านเข้าไปผสมผสาน มีการตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติ ระดับตำบล ที่ไม่ใช่แค่งบประมาณเพียงอย่างเดียว
บางพื้นที่อาจเป็นไม้ฟืน ข้าวเปลือก ข้าวสาร เครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเลื่อยยนต์ เครื่องเรือ เชือก อุปกรณ์ช่วยเหลือ เครื่องชูชีพ ที่สำคัญคือครัวชุมชนต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่นเดียวกับระบบการสื่อสารเครือข่าย ต้องสามารถติดต่อกันได้ตลอด แม้จะน้ำท่วม ไฟดับ ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ดังนั้นวิทยุสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดยามเกิดภัยพิบัติ
"การเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและเข้าร่วมเป็นเครือข่ายตำบลสุขภาวะ มีกำนันเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน พัฒนานโยบายสาธารณะหมู่บ้านจัดการตนเอง โดยอาศัยระบบจัดเก็บข้อมูล TCNAP หรือ Thailand Community Network Appraisal Program มาค้นหาทุน ศักยภาพท้องที่ แล้วเขียนแผนพัฒนาชุมชน ซึ่งจริง ๆ ทุกหมู่บ้าน มีต้นทุนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีระบบข้อมูล" นายโกเมศร์ ระบุ
นายโกเมศร์ ยังยกตัวอย่างกรณีพื้นที่ อ.ชะอวด มุมหนึ่งเป็นพื้นที่สวนผลไม้ที่สำคัญ ทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน แต่อีกมุมหนึ่งด้วยเหตุที่มีสภาพอากาศแบบสุดขั้ว หน้าฝนมีน้ำมากถึงขั้นน้ำท่วม แต่หน้าร้อนก็จะแห้งแล้งถึงขั้นขาดแคลนน้ำ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องหาวิธีการจัดการน้ำมาใช้กับสวนของตนเอง วิธีการหนึ่งที่ชาวเกาะขันธ์นำมาใช้คือการสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากไม่ให้ถาโถมแรงเกินไป จึงกล่าวได้ว่าที่ตำบลเกาะขันธ์มีการจัดการน้ำในทุกระดับ
โดยคณะกรรมการพัฒนาตำบลเกาะขันธ์ ได้เน้นการทำฝายทดน้ำที่วิเคราะห์แล้วพบว่าต้องการ 60 ฝาย จึงทยอยสร้างมาตั้งแต่ปี 2557 โดยไม่รองบประมาณ เพราะแผนทำฝายมีหลายแบบ ทั้งแผนพึ่งตนเอง ลงมือทำได้เลย เช่น ฝายกระสอบทราย ฝายมีชีวิต แผนพึ่งภาคีเครือข่าย ชวนเพื่อนมาช่วยทำฝายหินก่อ ของกลุ่มทุนธุรกิจในพื้นที่ในด้านวัสดุ หรือแผนพึ่งคนภายนอก
"ที่ต้องใช้งบประมาณ ก็ต้องทำโครงการเสนอไปที่ อบต. อำเภอ กลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด เป็นต้น ทำให้ถึงขณะนี้เสร็จแล้ว 47 ฝายควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบท่อน้ำเพื่อการเกษตร น้ำประปาหมู่บ้าน รวมทั้งมีกฎกติกาในการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาวะ เกิดคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาชีพเกษตรกรรมแบบปลอดสารพิษ เช่น สละ มัลเบอรี่ ทุเรียน 200 ปี กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบลอื่น ๆ" นายโกเมศร์ อธิบายเพิ่มเติม
ด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวเสริมว่า เกาะขันธ์เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความสำเร็จเรื่องบริหารจัดการน้ำเพื่อเศรษฐกิจ เช่น บางครอบครัวมีรายได้จากการขายผลไม้มากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี เพราะมีน้ำใช้ทำสวนอย่างเพียงพอทำให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำ
เมื่อตนเองยืนได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงกล้าออกมาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น