เกสรเล็กๆ ของเด็กบางลำพู

ในชุมชนที่หลายคนมองว่า “เสี่ยง” เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งบันเทิงยามราตรีอย่าง “ถนนข้าวสาร” เยาวชนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งย่านบางลำพู รวมตัวกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและชุมชน จนวันนี้กลายเป็นวัคซีนชั้นดีที่ใช้รักษาได้ทุกโรค

เกสรเล็กๆ ของเด็กบางลำพู

“เกสรลำพู” เป็นชื่อชมรมของกลุ่มเยาวชนที่เอ่ยถึง พวกเขาเริ่มก่อตั้งชมรมจากการทำวิจัยประวัติศาสตร์ชุมชน จากนั้นค่อยๆ ขยายมาทำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมประเพณี มีการจัดกิจกรรมทุกวันสำคัญ เช่น วันลอยกระทง วันสงกรานต์ วันปีใหม่ วันพ่อ วันแม่ ฯลฯ พร้อมๆ กับเกาะติดสถานการณ์ต่างๆ ภายในชุมชน ทั้งยังเสริมสร้างเยาวชนให้หลุดพ้นจากสิ่งยั่วยุรอบข้าง

เรียกว่า ตลอด 10 ปีที่ก่อตั้งชมรมมา “เกสรลำพู” สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบางลำพูได้อย่างชัดเจน ทว่า นอกจากงานภายใน(ชุมชน)แล้ว สมาชิกชมรมที่ปัจจุบันยืนพื้นจำนวนอยู่ที่ 15 คน ยังกระจายสาระความรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ล่าสุดพวกเขาได้ยื่นมือเข้ามาเป็น “จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงที่ทุกคนต่างต้องการความช่วยเหลือด้วย

พีระพงศ์ ดวงดี หรือ พี พีระพงศ์ ดวงดี หรือ พี หนึ่งในสมาชิกชมรมเกสรลำพูวัย 25 ปี เล่าว่า กิจกรรมหลักๆ ของกลุ่มเกสรลำพูในช่วงน้ำท่วมคือการมอบความสุขให้กับผู้ประสบภัย จากการเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จัดงาน คอนเสิร์ต สสส. ศิลปินรวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม โดยตระเวนจัดงานไปแล้วหลายแห่ง

“ในส่วนของเกสรลำพูจะมีการแสดง 2 ชุด คือ น้องๆ ผู้หญิงจะรำ ส่วนพวกเราผู้ชายจะเล่นดนตรี” พี เริ่มเล่าถึงภารกิจจิตอาสา ก่อนจะย้อนไปถึงวันแรกที่เขาได้รับการชักชวนให้เข้าชมรม

“ตอนนั้นผมไปนั่งเล่นกีต้าร์ที่สวนสันติชัยปราการ แล้วก็ไปเจอพี่ต้า(ปานทิพย์ ลิกขะไชย) พี่เหน่ง(ยุทธนา การนา) ซึ่งเป็นประธานที่ก่อตั้งชมรมนี้ขึ้นมา พี่เขาก็ชวนผมเข้ามาทำกิจกรรมวันเด็ก ตอนแรกผมไม่รู้อะไรเลย พี่เขาบอกให้มาช่วยสูบลูกโป่งหน่อย มาจัดโต๊ะให้หน่อย ตอนนั้นผมเด็กด้วยก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ไปช่วยพี่เขา ก็สนุกดี จนวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้จะครบ 10 ปีเต็มแล้วครับ” 

จากความสนุกในวันแรกกลายเป็นความคุ้นเคยที่พีและเพื่อนๆ ในชุมชนต่างให้ความสำคัญ พีเริ่มสร้างความเชื่อมั่นให้กับกิจกรรมของชมรมด้วยการกระจายข่าวไปยังเยาวชนในพื้นที่ พร้อมชักชวนให้มาร่วมกิจกรรม อย่างล่าสุดก็จัดงานประเพณีลอยกระทง ณ บริเวณสวนสันติชัยปราการ เพื่อให้ความบันเทิงกับผู้คนละแวกนั้นไปพร้อมๆ กับการขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เกสรเล็กๆ ของเด็กบางลำพู

“วันนั้น(ลอยกระทง) พอรำเสร็จ ยังไมได้เปลี่ยนชุด เห็นกล่องรับบริจาคว่างๆ อยู่ ก็เลยไปยืนตะโกนขอรับบริจาค ก็ได้หลายหมื่นอยู่ค่ะ รวมๆ แล้วเก้าหมื่นกว่าบาท” ธัญลักษณ์ สมแก้ว หรือ หนิง สมาชิกชมรมเกสรลำพู บอกอย่างภูมิใจ

บอย มิตรศิริวัฒน ส่วน บอย มิตรศิริวัฒน อดีตนักเรียนวัดสังเวช ที่เคยมีวีรกรรม “หลุดๆ” มาบ้าง สารภาพว่า ถ้าผมไม่เข้ามาอยู่ในชมรมผมหลุดแน่ๆ ครับ อบายมุขมันใกล้มาก บางทีเจอผู้ใหญ่นั่งกินเหล้า เด็กนั่งเล่นอยู่ในซอย มันก็เป็นตัวอย่าง ผมเคยหลุดมาก่อน แต่อย่าไปพูดถึงมันเลย มันไม่ดี ตอนนี้ก็เลิกแล้วทุกอย่าง…คือพอเรามาทำกิจกรรมแบบนี้ เหมือนเราได้เรียนรู้ปัญหาของน้องๆ ว่ามีอะไรบ้าง บางคนไม่ได้ว่านะ แต่น้องเขาเป็นตุ๊ด เป็นกระเทย พ่อแม่ไม่ยอมรับ เกิดปัญหา การที่ดึงเขาเข้ามาทำกิจกรรมตรงนี้ ให้เขาได้แสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องชอบ เป็นตัวของตัวเอง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้พ่อแม่ของน้องยอมรับได้

บอย ว่า หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาชิกเกสรลำพูออกไปทำกิจกรรมเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งแบบที่ไปเป็นกลุ่ม และแบบส่วนตัว อย่างเขาเองออกแรงช่วยทางโรงพยาบาลศิริราชขนกระสอบทราย และเฝ้าระวังน้ำท่วมอยู่หลายวัน ส่วนน้องๆ คนอื่นก็อาสาไปช่วยแพ็คถุงยังชีพบ้าง ปั้น em ball บ้าง แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนที่จะเดินทางไปได้

“มีกิจกรรมอะไรเราก็ไป อาจจะไม่ได้ไปด้วยกันก็จะต่างคนต่างไป อย่างผมไปศิริราช น้องอาจจะไปที่อื่น เพราะว่าเวลาเราอาจจะไม่ตรงกัน ก็แบ่งสายกันไป…ผมอยากให้สังคมไทยรู้จักแบ่งปัน ผมเคยดูข่าว มีป้าคนหนึ่งบอก ขอถุงยังชีพหน่อยค่ะ ขอถุงยังชีพหน่อยค่ะ แต่พอเดินไปหลังบ้าน ถุงยังชีพกองเป็นภูเขาเลย มีนะ อย่านะ น้ำใจต้องมีมั่ง”  

เกสรเล็กๆ ของเด็กบางลำพูส่วนน้องสาวคนเล็กในชมรมอย่าง เบียร์-นริตา นามทะจันทร์ สนับสนุนความคิดนั้นด้วยการยก “ญี่ปุ่น” ขึ้นมาสมทบบ้าง

“อยากให้ดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เขามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความเป็นห่วงเป็นใยกัน หนูเคยได้ยินมาว่า เขาแจกน้ำ 2 ขวด คนญี่ปุ่นบอก ขอขวดเดียวได้มั้ย กลัวคนอื่นไม่ได้ เวลาเขาเข้าแถวเอาของหนูรู้สึกว่า มันดี ไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ของเราเท่าที่หนูเห็นมานะ แถวๆ บ้านหนูที่เห็นมา ขอ 2 ได้มั้ย อยากจะให้เผื่อแผ่คนอื่นบ้าง อยากให้ทั่วถึงเพราะบางคนลำบากจริงๆ คนแก่จริงๆ ออกมาเอาไม่ได้”

พวกเขาทุกคนฝากส่งกำลังใจไปให้ผู้ประสบภัยทุกคนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโลกที่หมุนอยู่ทุกวันอีกครั้ง แม้มันจะลำบากยากเข็ญ แต่ก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไมได้

เกสรเล็กๆ ของเด็กบางลำพู

“ผมเชื่อว่าทุกคนมีตัวตนของตัวเอง มีจุดมุ่งหมายของตัว อยู่ที่ว่า เราจะดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้มากน้อยแค่ไหน” พี่ใหญ่อย่างพี ปิดท้าย

ความคิดเห็นของเด็กๆ ในชมรมเกสรลำพู อาจเปรียบได้กับละอองเกสรเล็กๆ ของดอกไม้ที่เติบโตในสังคมคอนกรีต ทว่า หากประเมินจากภาวะจิตใจและความคิดแล้ว พวกเขาได้รับการบ่มเพาะมาอย่างดี และพร้อมที่จะเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าต่อสังคมต่อไป

เรื่อง: นิภาพร ทับหุ่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code