‘เกษตรอินทรีย์’ เรื่องดีๆ ที่คนเมืองก็ทำได้
ตลอดระยะเวลา 8 ปีของการเพาะปลูกแบบไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมี หรือที่เรียกว่า “เกษตรอินทรีย์” พบว่า สิ่งสำคัญในการปลูกพืชทุกชนิดให้ประสบความสำเร็จ และได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ก็คือ “การเตรียมดินที่ดี”
คำแนะนำในกิจกรรม “Happy Living: มาปลูกผักกัน” ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย “ชูเกียรติ โกแมน” ผู้เชี่ยวชาญในโครงการสวนผักคนเมือง อธิบายถึงหลักสำคัญง่าย ๆ ในการทำเกษตรอินทรีย์ที่คนเมืองก็ทำได้ สรุปได้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1. เตรียมดินดี 2. มีเมล็ดพันธุ์พร้อม และ 3. การดูแลที่สม่ำเสมอ
“การเตรียมดินที่ดีต้องเตรียมเอง” ชูเกียรติย้ำพร้อมแนะนำวิธีทำดินให้ดีคือ “การทำปุ๋ยหมัก” โดยนำเศษอาหารที่เหลือในแต่ละวันมาหมัดรวมกันแบบไม่มีสูตรตายตัว จากนั้นใช้จุลินทรีย์ (EM) ในการช่วยย่อยสลาย ซึ่งทุกคนสามารถทำได้เองโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือ EM โดยเริ่มจากการหาจุลินทรีย์ธรรมชาติ หรือราที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาว อยู่ในอากาศเย็นและร่ม มีความชื้น ซึ่งสามารถเก็บใบไม้แห้งกิ่งไม้แห้งที่กองรวมกันใต้ต้นไม้ และเอาหน้าดินบริเวณนั้นมาด้วย นำมาใส่ในแก้วกระดาษขนาดประมาณครึ่งลิตร จากนั้นใส่น้ำเปล่า และน้ำตาลธรรมชาติลงไปเป็นอาหารของจุลินทรีย์ แล้วปิดฝากด้วยกระดาษเอาไว้ 3 วัน จนมีฟองอากาศผุดขึ้นมาในภาชนะ หรือมีกลิ่นคล้ายโยเกิร์ต กรองเอากากออก จะได้หัวเชื้อ 1 ลิตร ไว้สำหรับผสมกับน้ำเปล่า 10 ลิตร
"ใบไม้แห้ง" จุลินทรีย์จากธรรมชาติที่หาได้เอง
2. ทำปุ๋ยหมัก จากการหมักเศษอาหารโดยเน้นสีเขียว (ไนโตรเจน) และสีเหลืองน้ำตาล (คาร์บอน) โรยน้ำตาล และใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์เทราด คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้มือจับดูแค่พอชื้น ๆ ไม่ถึงกับแฉะ แล้วนำไปเก็บไว้ในกระสอบ 1 เดือน เมื่อย่อยสลายหมด ก็สามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เลย
3. เลือกเมล็ดพันธุ์ ควรใส่ใจกับการอ่านฉลาก ดูวันหมดอายุ ของเมล็ดพันธุ์ที่จะซื้อ สังเกตว่าร้านค้าเก็บสินค้าดีหรือไม่ เพราะการเลือกเมล็ดพันธุ์มีผลต่อการเติบโต หลังจากแกะกระป๋องหรือซอง ควรนำไปแช่เย็นไว้จะช่วยยืดอายุเมล็ดพันธุ์ได้ 2-3 เดือน แต่ถ้าเป็นไปได้ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน
สุดท้าย “การให้น้ำ” ต้องคำนึงถึงแต่ละช่วงอายุ ต้นงอกใหม่ให้ฝอยเล็ก ๆ เพราะต้นอาจช้ำและไม่โตได้ โดยต้นที่เริ่มงอกถึง 1 เดือน รดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ไม่เกิน 9 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่พืชเตรียมสังเคราะห์แสง ส่วนช่วงบ่าย ควรรดประมาณบ่าย 2-3 โมง เพื่อลดอุณหภูมิให้ต้นไม้
“การรดน้ำ ควรรดให้ชุ่มเพียงพอ และอย่าลืมรดน้ำบริเวณรอบ ๆ ด้วย เพราะการรดน้ำไม่เพียงพอจะกระตุ้นการคายน้ำ ทำให้ต้นไม้เฉาตายได้ ส่วนตอนค่ำนั้น ไม่ควรรดน้ำ เพราะถ้าใบแห้งไม่ทันมืด อาจทำให้ต้นขึ้นรา”
ชูเกียรติ ยังแนะนำอีกว่า พยายามปลูกผักพื้นบ้านเอาไว้ เพราะไม่ต้องดูแลมาก แต่เก็บกินได้ตลอดปี โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดีคือการปลูกต่อไปเรื่อย ๆ เช่น อัญชัน กระเจี๊ยบแดง ดาวกระจาย ดอกเทียน ซึ่งการมีไม้ดอกในสวนจะช่วยเรียกแมลงให้เข้ามาผสมพันธุ์ และช่วยในการขยายพันธุ์ แถมยังเป็นสีสัน เสริมให้แปลงมีชีวิตชีวา
ด้านการเพาะเมล็ด นั้น หากต้องการให้งอกเร็ว ควรนำไปแช่น้ำเอาไว้ก่อน เมื่อมีรากโผล่มา ค่อยนำไปลงกระถาง หากเป็นพืชที่งอกง่ายก็เอาดินกลบตื้น ๆ แต่หากเป็นกระเจี๊ยบแดงหรืออัญชัน ควรฝังให้ลึกลงไป 2 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกระถางเพื่อให้พืชยืนต้นแข็งแรง
“ป้ามาลี สุขมงคล” อายุ 71 ปี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้บอกว่า ที่บ้านส่วนใหญ่ปลูกไม้ประดับ เพราะมีพื้นที่น้อย ส่วนผักพื้นบ้านก็มีบ้างเล็กน้อย หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมทำให้รู้สึกว่าการปลูกผักกินเองนั้นง่ายมาก จึงเกิดความสนใจและอยากกลับไปทำแปลงผักเล็ก ๆ ที่บ้าน
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ยังมีกิจกรรมดี ๆ ฟรีอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ เดือน หากท่านใดสนใจ สามารถติดตามตารางกิจกรรมได้ที่ : www.thaihealthcenter.org หรือ www.facebook.com/Sookcenter
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์