เกษตรกรน้อย ร.ร.บ้านคลองใหม่

เกษตรกรน้อย ร.ร.บ้านคลองใหม่  thaihealth


บนเนื้อที่เพียง 1 งาน โรงเรียนบ้านคลองใหม่ในเขตพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้ทำแปลงเกษตรอินทรีย์ เขียวขจีไปด้วยพืชผักออร์แกนิก หลากหลายชนิดใช้สำหรับเป็นอาหารกลางวัน ที่เหลือให้แบ่งขายสร้างรายได้ระหว่างเรียน สุขที่ได้ นอกจากสุขภาพที่ดี ยังสุขใจที่เกษตรกรน้อยเหล่านี้ได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิต ตระหนักถึงความสำคัญขอพิษร้ายจากสารเคมี หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งยังซึมซับกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่วันเยาว์


"คุณครูศภากร จันทร์สุข" ครูผู้รับผิดชอบงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนบ้านคลองใหม่ เล่าว่า ต้องการให้เด็กทำสวยผักออร์แกนิกรับประทานเองในโรงเรียน เพราะอยากให้เด็กสุขภาพแข็งแรง ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งการซื้อผักผลไม้จากตลาดมาปรุงอาหารให้เด็กนั้นเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้างตกค้างสูง หากร่างกายได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดโรคต่างๆ ตามมา เมื่อร่างกายไม่แข็งแรงการเรียนก็ไม่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนจึงวางแผนจะปลูกพืชผักกินเอง โดยใช้อินทรีย์แทนสารเคมี แต่เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด จึงขออนุญาเจ้าของที่ ซึ่งมีพื้นที่ว่างติดกับโรงเรียนประมาณ 1 งานให้เด็กๆ ได้ทำแปลงเกษตรอินทรีย์กัน


"ช่วงแรกปลูกไม่เยอะ มีแค่ต้นแค กล้วย ผัก และโหระพา ที่ต้องใช้ในงานอาหารของโรงเรียนแต่ระยะหลังเห็นว่าปลูกแล้วได้ผลดี เด็กๆ สนใจผู้ปกครองก็สนับสนุน จึงปลูกผักหลากหลายขึ้น ทั้งฟักข้าว มะละกอ มะเขือพวง ตะไคร้ ผลผลิตที่ได้นำไปขายให้โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ขายคุณครู ผู้ปกครอง แม่ค้า พอเห็นรายได้เห็นเงิน เด็กก็มีกำลังใจ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เขาอยากทำเกษตรอินทรีย์ไปในตัว" คุณครูศุภากร กล่าว


คุณครูศุภากร บอกว่า ไม่มีความรู้ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เลย รู้เพียงแต่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กัน ทั้งเรื่องน้ำ ดิน ปุ๋ย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มแรกทำตามความรู้ที่มี ลองผิดลองถูก เน่าบ้าง เสียบ้าง แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการทำเกษตรอินทรีย์กับ สามพราน ริเวอร์ไซต์ ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ได้ความรู้กลับมาถ่ายทอดให้เด็กๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ปรับปรุงพัฒนา จนทุกวันนี้ผลการดำเนินเกษตรกรน้อย ร.ร.บ้านคลองใหม่  thaihealthโครงการประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าชื่นใจ


"นอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว ทางสามพรานให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยนำพนักงานมาช่วยเด็กๆ ขุดดินยกแปลง เพราะลำพังครูและนักเรียนคงต้องใช้เวลานานกว่าจะทำเสร็จ ทั้งยังช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำเกษตร ซึ่งงบของโรงเรียนมีไม่มากพอที่จะซื้อได้ความต้องการ เมื่อมีปัญหาให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านต่างๆ ทำให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม" คุณครูศุภากร อธิบาย


ด้าน "นายอรุษ นวราช" เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และกรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์ได้ขยายเครือข่ายออกสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ ทั้งชุมชน วัด โรงเรียน ต้องการปลูกฝังวิพถีอินทรีย์ให้เด็กๆ ให้เขาได้ซึมซับ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โรงเรียนบ้านคลองใหม่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่สามพรานได้ให้การสนับสนุนดูแลจนสามารถยืนได้อย่างเข้มแข็งและจะขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ เป้าหมายในอนาคตคือต้องการยกระดับสามพรานให้เป็นชุมชนแห่งความสุข ปลอดจากสารเคมี


หนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นเวลาว่างหลังเลิกเรียน "ด.ญ.เสาวรภย์ และ ด.ญ.เสาวลักษณ์ ภูชัยแสง" ชั้น ป.5 อายุ 11 ปี พี่น้องฝาแฝดคู่นี้ จะต้องรดน้ำ พรวนดิน และถอนหญ้า พ่อแม่ให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าร่างกายแข็งแรงจะช่วยให้การเรียนได้ดีไปด้วย เพราะฉะนั้น การที่ได้กินผักที่ปลูกเองโดยไม่ใช้สารเคมีนั้น ถือว่าดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน ที่เข้าใจก็คือ การทำเกษตรอินทรีย์นั้นดีต่อคนที่ปลูกและคนที่ได้รับประทานด้วย


ผู้ที่สนใจชิมผลผลิตพืชผัก ผลไม้ ออร์แกนิก หรือช็อปผักสวนครัวในกระถางพร้อมปลูก อาทิ ฟักข้าว มะละกอ มะเขือพวง ตะไคร้ ของเกษตรกรน้อย โรงเรียนบ้านคลองใหม่ สอบถามได้ที่ 0-3432-2 588-93 หรือดูรายละเอียดที่ www.sampranmodel.com


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code