เกษตรกรน้อยสุขใจ ในสวนผักออร์แกนิก

      โรงเรียนบ้านคลองใหม่  จ.นครปฐม สร้างเกษตรกรน้อยซึมซับการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่วัยเยาว์


/data/content/26664/cms/e_aefhjkmptx89.jpg


          บนเนื้อที่เพียง 1 งาน ที่ผู้ใจดีแบ่งปันให้เด็กๆ โรงเรียนบ้านคลองใหม่ ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้ใช้ประโยชน์โดยการทำแปลงเกษตรอินทรีย์ เขียวขจีไปด้วยพืชผักออร์แกนิกหลากหลายชนิดสำหรับเป็นอาหารกลางวัน ที่เหลือแบ่งขายสร้างรายได้ระหว่างเรียน


          สุขที่ได้ นอกจากสุขภาพที่ดี ยังสุขใจที่เกษตรกรน้อยเหล่านี้ได้เรียนรู้คุณค่าชีวิต ตระหนักถึงความสำคัญของพิษร้ายจากสารเคมี หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึมซับกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่วัยเยาว์


          คุณครูศุภากร จันทร์สุข ครูผู้รับผิดชอบงาน โครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านคลองใหม่ เปิดเผยว่าด้วยเหตุที่อยากให้เด็กสุขภาพแข็งแรง ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ทางโรงเรียนจึงวางแผนปลูกพืชผักกินเอง โดยใช้อินทรีย์แทนสารเคมี แต่เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่จำกัด จึงขออนุญาตเจ้าของที่ ซึ่งมีพื้นที่ว่างติดกับโรงเรียนประมาณ 1 งาน ให้เด็กๆ ทำแปลงเกษตรอินทรีย์กัน


          "ช่วงแรกปลูกไม่เยอะ มีแค่ต้นแค กล้วย ผัก และโหระพา ที่ต้องใช้ในงานอาหารของโรงเรียน แต่ระยะหลังเห็นว่าปลูกแล้วได้ผลดี เด็กๆ สนใจ ผู้ปกครองก็สนับสนุน จึงปลูกผักหลากหลายขึ้น ทั้งฟักข้าว มะละกอ มะเขือพวง ตะไคร้ ผลผลิตที่ได้นำไปขายให้โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ขายคุณครู ผู้ปกครอง แม่ค้า พอเห็นรายได้เห็นเงิน เด็กก็มีกำลังใจ เป็นการกระตุ้นให้เขาอยากทำเกษตรอินทรีย์ไปในตัว" คุณครูศุภากรกล่าว


          ก่อนบอกเล่าต่อว่าเริ่มแรกตนเองไม่มีความรู้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์เลย รู้เพียงแต่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งจริงๆ แล้วทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กัน ทั้งเรื่องน้ำ ดิน ปุ๋ย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต เริ่มแรกทำตามความรู้ที่มี ลองผิดลองถูก เน่าบ้าง เสียบ้าง แต่หลังจากเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการทำเกษตรอินทรีย์กับสามพราน ริเวอร์ไซด์ ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ได้ความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ปรับปรุงพัฒนา จนทุกวันนี้ผลการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าชื่นใจ


          ด้าน นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ และกรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า สามพรานฯ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) โดยเชื่อมความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน ในการขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร


          "ตอนนี้การทำเกษตรอินทรีย์ขยาย เครือข่ายออกสู่เกษตรกรในหลายพื้นที่ ทั้งชุมชน วัด โรงเรียน เราต้องการปลูกฝังวิถีอินทรีย์ให้เด็กๆ ซึมซับ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โรงเรียนบ้านคลองใหม่คืออีกหนึ่งตัวอย่างและจะขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ"


          เสียงใสๆ จากเกษตรกรตัวน้อยๆ ด.ช.อดิศร น้องวงศ์ อายุ 10 ขวบ ชั้น ป.4 บอกว่าตอนเย็นจากที่เคยไปวิ่งเล่นก็เอาเวลามาดูแปลงเกษตร ช่วยรดน้ำตนไม้ ถอนหญ้า พรวนดิน ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ได้เรียนรู้วิธีการทำเกษตรแบบโบราณที่ไม่ต้องใช้สารเคมี "ที่สำคัญผมคิดว่าผมได้สุขภาพที่ดี ไม่ค่อยป่วย มาโรงเรียนได้ทุกวัน อยากให้เพื่อนได้รับประทานพืชผักออร์แกนิกครับ ร่างกายจะได้แข็งแรง"


          หนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้นซึ่งเป็นเวลาว่างหลังเลิกเรียน ด.ญ.เสาวรภย์ และ ด.ญ.เสาวลักษณ์ ภูชัยแสง ชั้นป.5 อายุ 11 ขวบ พี่น้องฝาแฝดคู่นี้จะต้องไปที่แปลงผัก เพื่อรดน้ำพรวนดินและถอนหญ้า เด็กหญิงทั้งสองเล่าว่าพ่อแม่สนับสนุนเต็มที่เพราะคิดว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าร่างกายแข็งแรงจะช่วยให้การเรียนดีไปด้วย


          ความหวังของคุณครู นอกจากสุขภาพที่ดีของเด็ก ยังต้องการให้นักเรียนรับรู้และตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมีตกค้าง ขณะเดียวกันต้องการให้ซึมซับกระบวนการปลูกผักแบบไม่พึ่งพาสารเคมี วันข้างหน้าเมื่อเด็กๆ โตขึ้นจะได้เป็นอีกหนึ่งกำลังหลักสำคัญในการผลักดันให้คนเห็นคุณค่าของชีวิต เห็นความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดผลดีทั้งกับคนปลูกและคนกิน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม


 


 


     ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด


    ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code