‘เกล็ดปลานิล’ ของเหลือสู่แคลเซียม

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


'เกล็ดปลานิล' ของเหลือสู่แคลเซียม thaihealth


แฟ้มภาพ


          "เกล็ดปลานิล"ของเหลือจากอุตสาหกรรมประมงเป็นโจทย์ให้นักวิจัยไทยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าสู่แคลเซียมสกัดพันธุ์ไทย ที่พร้อมทดลองตลาดปลายปีนี้ในราคาคนไทยเอื้อมถึง ทั้งต่อยอดเป็นชีววัสดุทางการแพทย์ทดแทนกระดูกกระตุ้นให้เซลล์มาเกาะและเกิดใหม่ได้ดี คาด 5 ปีพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์


          "เกล็ดปลานิลเป็นของเหลือของโรงงานแสงทองที่ทำอุตสาหกรรมประมง ถูกนำไปสกัดเอาคอลลาเจนออกคงเหลือไว้แต่ตัวเกล็ดเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงนำมาเป็นโจทย์ และติดต่อมาให้ศึกษาวิจัยเพื่อนำของเหลือนี้ไปสู่การประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า" ศ.นทีทิพย์ กฤษณามระ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าว


          แคลเซียมเสริมสู่ชีววัสดุแทนกระดูก


          นายธิติวัฒน์ สิริภาสคงพัฒน์ เจ้าของโรงงานแสงทอง กล่าวว่า เดิมทำธุรกิจรับซื้อเกล็ดปลาและสกัดเอาคอลลาเจนส่งไปญี่ปุ่น เหลือเกล็ดปลาในลักษณะผงแคลเซียมเอาไว้ กลายเป็นของเหลือทิ้งจากธุรกิจที่มีมากถึง 6 ตันต่อวัน และเมื่อสกัดเป็นผงก็ยังเหลือราว 3 ตันต่อวัน จึงตั้งโจทย์ที่จะนำของเหลือนี้มาสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และราคาสู้ได้ในตลาด


          "ผมมองหานักวิจัยที่มีความโดดเด่นเรื่องแคลเซียม กระทั่งได้พบ ศ.นทีทิพย์และเกิดโครงงานวิจัยโดยศึกษาโครงสร้างและคุณสมบัติของเกล็ดปลานิล และแตกออกมาเป็น 3 โครงการวิจัย คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของผงแคลเซียมสกัดจากเกล็ดปลา, การศึกษาผลการใช้ผงสกัดแคลเซียมจากเกล็ดปลาเป็นวัสดุชีวภาพทดแทนกระดูก และ การศึกษาผลการใช้ผงสกัดแคลเซียมจากเกล็ดปลาเป็นแคลเซียมเสริมในหนูแก่" นายธิติวัฒน์ กล่าว


          ศ.นทีทิพย์ กล่าวว่า โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้ภาคเอกชน โดยพัฒนาแคลเซียมเสริมที่ไม่ตกค้างในกระแสเลือด เทียบกับแคลเซียมคาร์บอเนตที่เสี่ยงตะกอนสะสมจึงมีข้อจำกัดด้านระยะเวลารับประทาน ในขณะเดียวกันระหว่างการวิจัยก็เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ศึกษาเพิ่มเติม


          "ผงสกัดแคลเซียมจากเกล็ดปลามีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็นชีววัสดุทดแทนกระดูกได้ ด้วยมีโครงสร้างเป็นแคลเซียมฟอสเฟส และมีคอลลาเจนฝังอยู่ คล้ายกับกระดูกของมนุษย์" ผศ.วีรพัฒน์ พลอัน ภาควิชา ฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในฐานะนักวิจัยโครงการ Bone Scaffold and artificial bone implant from fish scales and fish bone


          ผศ.วีรพัฒน์จึงพัฒนาเป็นชีววัสดุทดแทนกระดูก โดยใช้แคลเซียมสกัดจากเกล็ดปลานิลเป็นหลัก แล้วแทรกไอออนเข้าไปในโครงสร้าง เพื่อให้ชีววัสดุนี้ใกล้เคียงกระดูกมากที่สุด โดยสามารถกระตุ้นเซลล์มาเกาะที่ชีววัสดุและมีอัตรากระดูกเกิดใหม่สูง ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการบนจานเพาะเซลล์กระดูกพบเป็นไปตามว่าวัตถุประสงค์อีกทั้งสามารถสร้างกระดูกเกิดใหม่ได้ดีกว่าชีววัสดุทดแทนกระดูกในตลาดอย่างมีนัยสำคัญในสัตว์ทดลอง เพื่อดูกระบวนการสร้าง


          "เฟสต่อไปคือ การทดสอบใช้ชีววัสดุนี้กระดูกจริงๆ ที่จะเกิดภายใน 6-7 สัปดาห์ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ก่อนเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกต่อไป" ผศ.วีรพัฒน์ กล่าวและคาดว่า ภายใน 5 ปีจะสามารถส่งต่องานวิจัยนี้ใน เชิงพาณิชย์ได้โดยมีโอกาสทางการตลาดที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการประสานกันของกระดูกเร็วขึ้น ลดขั้นตอนการผ่าตัดนำโลหะออก และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย


          ก้าวต่อไปของเกล็ดปลานิล


          ปัจจุบัน ผงแคลเซียมสกัดจากเกล็ดปลานิลกลายเป็นนวัตกรรมในมือนักธุรกิจที่ธิติวัฒน์เตรียมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เม็ดกลืนสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว หรือผงแคลเซียมแบบชงดื่มสำหรับสาวๆ ด้วยมองว่า เป็นวัตถุดิบที่มีความน่าสนใจและสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารเสริมแคลเซียมสำหรับสัตว์ โดยจะดำเนินการภายใต้บริษัท เนเชอรัล แคลเมท จำกัด


          "จุดเด่นของเราคือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีงานวิชาการรับรอง คุณภาพและมาตรฐานสากลในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ทั้งวางแผนการตลาดเพื่อจำหน่ายในร้านเชนสุขภาพ คาดว่าจะเริ่มทดลองตลาดปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม การสร้างธุรกิจใหม่ต้องลงทุนสูงมาก จึงเลือกใช้ โรงงานโออีเอ็มผลิตสินค้าเพื่อทดลองตลาดก่อน" นายธิติวัฒน์ กล่าว


          ไทยยังมีของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่น่าสนใจอีกมาก และจะใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยร่วมกับนักวิจัยสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ตลาด โดยที่ภาคเอกชนจะเป็นทั้งต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำนั่นเอง


          ด้าน ศ.นทีทิพย์ กล่าวว่า นับเป็น ความร่วมมือที่ วิน-วิน เอกชนได้โซลูชั่น นักวิจัยก็ได้องค์ความรู้ใหม่ และเกิดการต่อยอดวิจัยทั้งในแง่องค์ความรู้พื้นฐานและผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดได้ เช่น โครงการ ผงแคลเซียมสกัดจากเกล็ดปลานิลก็ จุดประกายให้คิดถึงความเชื่อที่ว่า กินแคลเซียม กับคอลลาเจนจะทำให้ดูดซึมดีที่สุด แต่ไม่มีข้อมูลวิชาการใดรับรอง ขณะที่ผลการศึกษาทำให้สามารถพัฒนาสูตรแคลเซียมเสริม อะมิโนแอซิดบางตัวที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ประชาชนทั่วไป จะได้ใช้ของไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐานจากวัตถุดิบในประเทศอีกด้วย


          การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรืออาหารเพื่อเป็นแหล่งของแคลเซียมต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่ทำให้แคลเซียมดูดซึมได้ดี


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code