เกมสมดุล-ชีวิตสมดุล

เมื่อธรรมชาติให้สรรพสิ่งมี 2 ด้าน

 

เกมสมดุล-ชีวิตสมดุล

          ชีวิตมันก็เหมือนกับวัตถุสิ่งหนึ่ง ซึ่งย่อมต้องมี 2 ด้านเช่นกัน เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการให้ ชีวิตก้าวเดินไปอย่างราบเรียบจำเป็นว่า ต้องพึงตระหนักถึง ความมี 2 ด้านของชีวิตเอาไว้ตลอดเวลา เมื่อนึกได้ว่า ชีวิตต้องมองทั้ง 2 ด้าน การดำเนินชีวิตจึงต้อง “คิดก่อนทำ” เพื่อ เลือกข้างว่า เราจะใช้ชีวิต ด้านที่หนึ่ง หรือ ชีวิตด้านที่สอง

 

          การมองชีวิต สองด้านก่อนการตัดสินจะทำอะไรลงไปนี้ พุทธธรรม ท่านเรียกว่า การมีสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็น คติธรรม อันสำคัญยิ่งที่มนุษย์ซึ่งมีชีวิตทุกคนจะต้องนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต

สาเหตุก็เนื่องจากว่า ชีวิตมันมี 2 ด้านนี่เอง

 

          ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่ของใกล้ตัว ใกล้ใจของมนุษย์ทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้ “ของใกล้ตัว ใกล้ใจ”ดังกล่าวคือ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ ที่แพร่กระจายไปสู่มนุษย์ทั่วโลก จนเกือบจะกลายเป็น ปัจจัยที่ 6 ที่มนุษย์จะขาดเสียมิได้

 

          เด็กๆใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็ใช้ประโยชน์อีกอย่าง แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน แต่ละวัย เพราะ เจ้า เทคโนโลยีที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์นี้ มันตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ ทุกเพศ และ ทุกวัย จริงๆ

 

          เมื่อวันวานที่ผ่านมา นายธีระ สูตบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติกล่าวถึงการจัดสัมมนาทางออกปัญหาการติดเกม และเปิดตัวเว็บไซต์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเกม www.healtgamer.net ว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยเพื่อตอบสนองและแก้ไขปัญหาของชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นในเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสารสนเทศไร้พรมแดนต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีการใช้คอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตมากกว่าวัยทำงานถึง 2 เท่าและส่วนใหญ่ใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตกับการใช้เทคโนโลยี และมีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนไทยจะมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น

 

          ความน่าเป็นห่วง ว่า ด้านหนึ่งของ อินเตอร์เน็ต อาจจะสร้างปัญหา และ ทำร้ายเยาวชนของชาติได้ หากไม่มีการ พิจารณา ตรวจสอบ และ วิเคราะห์ให้ดีว่า เราจะใช้ประโยชน์เพียงด้านเดียวของ คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร

 

          ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัย ต่อการจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางนโยบายและปฏิบัติ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นระหว่างผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคที่เกี่ยวข้อง

 

          ทั้งนี้ ทั้งนั้น เป้าหมายหลักคือ อยากให้ คนที่ต้องใช้ คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน ได้มองเห็น คอมพิวเตอร์ทั้ง 2 ด้าน อย่างทะลุแจ้งเห็นจริงนั่นเอง

 

          ไม่เพียงแค่ หน่วยงานของ วช. เท่านั้น ที่หันมาเอาใจใส่ต่องการมอง 2 ด้าน ของเทคโนโลยีชนิดนี้ ทางด้านของ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ของกรมสุขภาพจิต ก็ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน

 

          นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาหาปัจจัยเพื่อป้องกันการติดเกมในเด็กและวัยรุ่น” ซึ่งพบว่าเด็กไทยที่กำลังติดเกม มีสถิติสูงขึ้นถึงร้อยละ 13.3 และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง ทาง สถาบันญจึง ไม่สามารถจะนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงทำให้เกิดตัวช่วย ขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่ง คือ สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 

          โดยที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ร่วมมือกับสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตและภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสนับสนุนให้เกิดเว็บไซต์นี้ขึ้นภายใต้แนวคิด “เกมสมดุล…ชีวิตสมดุล” ขึ้น ชื่อว่า http://www.healthygamer.net/ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาเด็กติดเกม ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งหากใครพบเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมา ก็สามารถเข้ามาสนทนา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และ ประสบการณ์ต่อกันและกัน เพื่อเป็นการ ขยายการแก้ปัญหาให้กว้าง และ หลากหลายยิ่งขึ้น

 

          โดยผู้ที่เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกเมื่อดาวน์โหลดเข้ามาแล้ว ก็จะมีกระดานสนทนาสำหรับซักถามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาเด็กติดเกมจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง นอกจากนี้ยังมีแบบทดสอบที่ได้มาตรฐานเช่น แบบทดสอบการติดเกม และแบบวัดภูมิคุ้มกันการติดเกมพร้อมการแปลผลและคำแนะนำดีๆสำหรับผู้ที่กำลังสงสัยว่าตนหรือบุตรหลานของตนกำลังติดเกมได้ทำแบบทดสอบแบบออนไลน์ได้อีกด้วย

 

          ทุกอย่างก็จะเกิดความสมดุลแก่ชีวิต เมื่อเราเห็น ด้านทั้ง 2 ด้านของคอมพิวเตอร์ แล้วยังมีคนคอยให้คำปรึกษา แก้ไขได้ตลอดเวลาอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

 

Update: 12-05-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code