เกมล่าฝันพันล้านให้ ‘วัยว้าวุ่น’ ผู้ก้าวพลาด
“การให้” เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่การ “ให้โอกาส” ยิ่งเป็นสิ่งที่สวยงามและมีค่า โดยเฉพาะกับเยาวชนที่ “ก้าวพลาด” ถ้าสังคมให้โอกาสพวกเขาเหล่านั้นจะกลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคมได้เช่นกัน
เครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดละครเวทีเรื่อง “เกมล่าฝันพันล้าน” ละครเวทีแนวคอมเมดี้ ดราม่า เสียดสีสังคมเพื่อนำรายได้โดย “ไม่หักค่าใช้จ่าย” มอบให้มูลนิธิชนะใจภายใต้การดูแลของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้าน กาญจนาภิเษก ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กระทำผิดและครอบครัว ได้รับการเยียวยาและพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมจิตอาสานอกสถานที่
“คุก” คือ สถานที่ลงโทษผู้กระทำความผิด คนเหล่านี้สังคมจะมองว่า พวกเขาไม่ควรที่จะได้รับการปล่อยออกมาจากคุกจนกว่าจะพ้นโทษ นั่นคือทัศนคติของคนทั่วไปที่ถูกปลูกฝังหยั่งรากลึกมายาวนาน การเปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากมาก” “ป้ามล” หรือ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงการทำงานของเธอที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมของคนทั่วไปที่มีต่อผู้กระทำผิดว่า มูลนิธิชนะใจเริ่มก่อตั้งมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือ เยียวยา และให้โอกาสแก่เยาวชนผู้กระทำผิด เหยื่อผู้ถูกกระทำ และครอบครัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะสังคม สิ่งแวดล้อมที่มีส่วนสำคัญทำให้เยาวชนก้าวพลาดได้ง่าย และทุกคนในสังคมต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย กระบวน การฟื้นฟูสภาพจิตใจของพวกเขาเหล่านั้นให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากพ้นโทษไปแล้วเป็นสิ่งสำคัญกว่าการคุมขังตัวเขาไว้มากมายนักซึ่งจะเน้นการจัดกิจกรรมนอกกรอบ นอกสถานพินิจที่ทำให้เยาวชนเหล่านั้นไม่รู้สึกว่าโดนลงโทษและมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสากับบุคคลทั่วไปทำให้เขาเห็นคุณค่าของตนเอง เห็นคนที่มีน้ำใจกับเขา ขอบคุณเขาซึ่งกิจกรรมดังกล่าวภาครัฐยังไม่มีแม้แต่แนวคิดที่จะสนับสนุน ทางศูนย์ฝึกฯจึงจำเป็นต้องจัดตั้ง “มูลนิธิชนะใจ” ขึ้นมาเพื่อระดมทุนหารายได้ส่งเสริมกิจกรรมของทางศูนย์ฯ
“ป้ามล” มองว่า การจะให้เยาวชนที่ก้าวพลาดไปได้กลับตัวกลับใจมาเป็นคนดีได้นั้น ไม่ใช่ใช้การลงโทษเข้ามามีบทบาทหลักตนมองว่าการให้โอกาส ให้ความรักการสร้างให้เขารู้จักคุณค่าในตนเองจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถส่งเขากลับเข้าสังคมได้อย่างมั่นใจ ที่ผ่านมาญาติของผู้เสียหายส่วนมากไม่ได้ต้องการให้เยาวชนเหล่านั้นต้องโทษสถานหนัก แต่เขาต้องการให้เยาวชนที่ทำผิดกลับตัวกลับใจเป็นคนดีเสียมากกว่า
“กระบวนการภาครัฐ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเยี่ยมเยาวชนได้ไม่กี่ชั่วโมงไม่สามารถเปลี่ยนปมภายในใจที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ แต่ที่บ้าน กาญจนาฯเด็กและผู้ปกครองจะมีโอกาสพบปะกันมากขึ้นทุกสัปดาห์ ทุกเดือน มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านตามกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ ร่วมกัน ที่นี่จะสอนให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ ฝึกวิชาชีพ แต่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ เข้าใจชีวิตตนเองและผู้อื่น และฝึกทักษะชีวิตส่วนผู้ปกครองจะได้เรียนรู้การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้โอกาสบุตรหลานได้กลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้งโดยไม่ต้องกระทำความผิดอีกเป็นครั้งที่ 2 เชื่อหรือไม่ว่าเด็กที่ผ่านการอบรมจากบ้านกาญจนาฯจะทำผิดซ้ำสอง เพียงแค่ 2% เท่านั้น จากที่การคุมขังระบบอื่น ๆ มีถึง 17%” ป้ามล กล่าว
นายสมศักดิ์ ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี หนึ่งในนักแสดงละครเรื่องนี้ กล่าวว่า คาดหวังว่าการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยสร้างการเรียนรู้เติมส่วนที่ขาดหายจากชีวิตโดยเฉพาะวิชาชีวิต วิชาที่ช่วยให้สามารถเปลี่ยนแนวคิดเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนชีวิตด้วยความสมัครใจ ซึ่งเกิดจากความตระหนักในคุณค่าของตนเองและแปรรูปเป็นความหวัง เป็นพลัง เป็นทุนประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวบางอย่างในละครเรื่องนี้ได้ดัดแปลงจากชีวิตจริงของเยาวชนที่เคยก้าวพลาด เนื้อหาต้องการสะท้อนและเสียดสีสังคมที่เป็นอยู่ อีกทั้งยังช่วยจุดประกายความคิดคนที่มีอุดมการณ์ คนที่เคยก้าวพลาดให้ได้คิดตอกย้ำความฝันของตนเอง ทำอย่างไรให้ไปถึงฝันนั้น หากใครได้ดูก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่าละครเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นการสร้างความเข้าใจ การให้โอกาส เราต้องเชื่อว่าเด็กเยาวชนทุกคนมีความเป็นเนื้อดีอยู่ในตัวเพียงแต่สังคมต้องให้โอกาสเขา และไม่ควรไปตัดสินเด็กเหล่านั้นว่าเป็นคนเลวแต่ควรมองย้อนกลับไปถึงปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาเกิดความผิดพลาดและเราทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้อยากฝากถึงสังคมควรเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เคยก้าวพลาดให้ได้แสดงพลังความดี มีเวทีได้ถ่ายทอดความรู้สึก ได้สื่อสารได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควรให้เขามีที่ยืนในสังคมหลังจากที่เขาได้ชดใช้สิ่งที่เคยก่อเอาไว้
ด้าน นายเอ (นามสมมุติ) เยาวชนบ้าน กาญจนาฯ เล่าว่า การที่เขาได้มาอยู่ที่บ้าน กาญจนาฯ และได้ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิชนะใจ ก็สอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ผ่านการทำกิจกรรม ดูหนัง ดูข่าว มีระเบียบ และไม่เคยรู้สึกเหมือนถูกคุมขัง อยู่ที่นี่เวลามีปัญหาไม่ต้องเก็บไว้ มาบอกได้เลยจากนั้นจะมีการระดมความคิดกันว่าเราควรจะทำหรือไม่ การจัดกิจกรรมจิตอาสาภายนอกสถานที่ ทำให้เรารู้เรื่องราวต่าง ๆ ภายนอกได้ดีที่สุดและรู้สึกดีมากที่ได้รับการต้อนรับ ขอบคุณจากคนอื่น ทำให้เราเห็นว่า ตัวเรามีคุณค่า ทำประโยชน์กับผู้อื่นได้ด้วย
สำหรับละครเวทีเรื่อง “เกมล่าฝันพันล้าน” นำแสดงโดย นรินทร ณ บางช้าง, ประดิษฐ์ ประสาททอง, ศรัทธา ศรัทธาทิพย์,สมศักดิ์ ศิริพันธุ์, วรชัย นวลศรี, พีระวิทย์ ศิริพันธุ์, เมธี ประทุมธา, อิสระพงษ์ เตชะแก้ว, ด.ช.สรรค์ชัย อัศวทวีโชค จัดแสดงที่โรงละครอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) ห้องประชุมชั้น 2 ซอยงามดูพลี ในวันศุกร์ที่ 4 และเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2556 รอบ 10.30 น., 14.00 น. บัตรราคา 500 บาท ทุกที่นั่ง จองบัตรและสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.08-6676-5565 หรือที่ www.facebook.com/billiondreamgames รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิชนะใจ
การให้ครั้งใดอาจจะไม่สุขใจเท่ากับการให้โอกาสเยาวชนที่ก้าวพลาดไป เราเป็นพลังน้ำหยดเล็ก ๆ ที่จะมารวมกันในสังคมให้มีส่วนผลักดัน เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้กับเยาวชนเหล่านี้ได้กลับมามีพื้นที่ยืนในสังคมด้วยความสง่างามอีกครั้ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์