ฮ่วมใจ๋ ฮ่วมก่อสุข(ภาวะ) ไร้ NCDs ทั่วเมืองรถม้า
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “ฮ่วมใจ๋ ฮ่วมก่อสุข (ภาวะ)” จ.ลำปาง วันที่ 9-11 มิ.ย 2568
ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ในวันที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) กลายเป็นภัยเงียบของประเทศ เด็กทุกคนควรได้โตขึ้นอย่างมีความสุข ไม่ใช่แค่มีชีวิตอยู่ในวันที่โลกหมุนเท่านั้น การลงทุนในสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กไม่ใช่แค่ทางเลือกเรื่องสุขภาพเท่านั้น โมเดลโรงเรียนสุขภาวะไร้ NCDs จากเมืองรถม้า วิ่งเล่น กินดี นอนพอ จะทำให้เด็กที่แข็งแรง คิดได้เร็ว วิ่งได้ไกล และฝันได้ไกลกว่าเดิม คือทุนมนุษย์ที่ดีที่สุดของประเทศนี้
นี่คือ “การวางรากฐานของบ้านเมืองในระยะยาวร่วมกันในอนาคต” ที่ต้องใช้กลยุทธ์เพื่อความมั่นคงของชาติ
ถ้าเรายังปล่อยให้เด็กโตขึ้นท่ามกลางน้ำตาล ไขมัน และความเฉยเมยของระบบ… ใครจะรับผิดชอบอนาคตของประเทศ?” การสร้างสุขภาวะ ต้องเริ่มตั้งแต่โรงอาหาร ไปจนถึงเตียงนอนของเด็ก ๆ นี่ไม่ใช่แค่ภารกิจของครู พ่อแม่ หรือ สสส.—แต่คือเรื่องของเราทุกคน
ลำปางโมเดล: ตัวอย่างของความเป็นไปได้
เมื่อวันที่ 9-11 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สสส.และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. ลงพื้นที่ศึกษาดูงานภายใต้ชื่อโครงการ “ฮ่วมใจ๋ ฮ่วมก่อสุข (ภาวะ)” ณ จ.ลำปาง เพื่อถอดบทเรียนด้านการจัดการสุขภาวะในโรงเรียน
โดยเฉพาะที่โรงเรียนอนุบาลเขลางค์รัตน์อนุสรณ์ โรงเรียนที่ใช้แนวคิด “สามเหลี่ยมสมดุล” เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะของนักเรียน 3,295 คน ให้เป็นรูปธรรม
สืบเนื่องจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 ระบุว่า พบว่าเด็กอายุ 0 – 5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 8.84 และเด็กวัยเรียนอายุ 6 -14 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 13.21 วัยรุ่นอายุ 15 -18 ปี มีเริ่มอ้วน และอ้วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 13.84 เป็นร้อยละ 13.46
แต่ยังคงเกินเป้าหมายระดับชาติที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกินร้อยละ 11.5 ทำให้ประเทศไทยมีเด็กที่เป็นโรคอ้วน รั้งเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซีย และบรูไน
การจัดกิจกรรมลงพื้น สสส. ที่ จ.ลำปาง ครั้งนี้ มุ่งสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และค่านิยมการสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มเป้าหมาย โดยมุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรค NCDs และเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
เพื่อสร้างความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ภายใต้แนวคิด สามเหลี่ยมสมดุล ช่วยเสริมสร้างศักยภาพเด็กนักเรียนจำนวน 3,295 คน ให้มีสุขภาวะดีผ่านเมนูอาหารกลางวันที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
แนวคิด ‘สามเหลี่ยมสมดุล’ คืออะไร?
วิ่งเล่น – กินดี – นอนพอ คือ หัวใจของสุขภาวะในเด็ก – กินดี ปรับเมนูอาหารกลางวันตามสูตร 2:1:1 (ผัก:ข้าว:โปรตีน) / ลดหวาน มัน เค็ม/ ร่วมมือกับผู้ปกครอง วิ่งเล่นกิจกรรม “ขยับวันละ 60” นาที พัฒนาการเคลื่อนไหวผ่านการเล่น / นอนพอ ส่งเสริมการนอนหลับก่อน 3 ทุ่ม /เด็กได้นอนอย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงต่อคืน
ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงาน เด็กอ้วนลดลง 1.6% ภายในระยะเวลาไม่นาน
ขานรับสร้างสุขภาวะดีให้กับเด็กและเยาวชน โดย นายสุนธร ธรรมสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเขลางค์รัตน์อนุสรณ์ จ.ลำปาง ที่เผยผลสำเร็จในการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กนักเรียนจำนวน 3,295 คน มีสุขภาวะดีผ่านเมนูอาหารกลางวันที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ว่า…
“จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดสามเหลี่ยมสมดุลเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็กนักเรียน โดยลดจำนวนเด็กอ้วนได้สำเร็จแล้วถึง 1.6% ทั้งยังมีการเสริมโภชนาการที่ถูกต้องให้เด็กนักเรียนมีความรู้ด้านโภชนาการ การกินอยู่ และอันตรายของการกินหวาน มัน เค็มผ่านสื่อช่องทางโซเชียลต่าง ๆ อีกทั้ง ประสานผ่านเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครองให้มีความรู้เรื่องอาหาร และสุขอนามัยด้วย
ห้องเรียนพ่อแม่ “The Parents Lab”
ผู้อำนวยการโรงเรียน เน้นว่า “สุขภาวะดีเริ่มจากบ้าน” จึงริเริ่มกิจกรรม The Parents Lab – องเรียนพ่อแม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการออกแบบพฤติกรรมสุขภาพ
“แม่บุ๋ม”หนึ่งในผู้ปกครอง เล่าเป็นภาษาถิ่นว่า “บ้านเฮาใส่ใจ๋เรื่องการกิ๋นข้าวนัก เลือกกิ๋นตามสูต๋า 2:1:1 คือ ข้าว – ผัก – เนื้อ ลดหวานลงแฮง ละก่อบ่ะหื้อกิ๋นของจุกจิก ส่วนเรื่องนอนก่ะสำคัญนักเน้อ ลูกต้องนอนก่อนสามทุ่ม แล้วนอนหื้อได้สัก 8-9 ชั่วโมง จะได้พักผ่อนเต็มที่ ตื่นมาสดชื่นหัวใจ๋”
“เรื่องออกกำลังกาย เฮาก่ะพยายามสลับ ทั้งกีฬาในร่มตี้บ้าน กั๋นไปเตะบอล ปั่นจักรยานตี้ลาน เพื่อบ่หื้อเบื่อ ง่าย ๆ ลูกมีสุขภาพดี๋ขึ้น น้ำหนักลดลง ตัวสูงขึ้น แล้วก่ะใจ๋ดีขึ้นแต๊ ๆ เจ้า”
สสส. มองว่าโรงเรียนและครอบครัวกับแนวคิดสามเหลี่ยมสมดุล คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองสุขภาวะ และไม่ใช่แค่การสร้างคนที่ “ไม่ป่วย” แต่คือการสร้างพลเมืองที่ “มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
“เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคต”