‘ฮู’ หวั่นทั่วโลกไม่มียาปฏิชีวนะใช้

เหตุแบคทีเรียดื้อยา

‘ฮู’ หวั่นทั่วโลกไม่มียาปฏิชีวนะใช้

         

          ผอ.ฮู เตือนทั่วโลกเฝ้าระวังโรคโปลิโอ ด้าน คกก.ฮู เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวั่นอีก 10 ปี ทั่วโลกไม่มียาปฏิชีวนะใช้ เหตุแบคทีเรียดื้อยา ผู้ป่วยใช้ยาไม่เหมาะสม อุตสาหกรรมยาไม่เหลียวแลผลิตยาใหม่ๆ เพิ่มเพราะลงทุนสูง แนะเฝ้าระวังการจ่ายยารอบคอบ

         

          วานนี้ (8 ก.ย.) ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิดเชอราตัน ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (who) กล่าวในการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยที่ 63 กล่าวว่า โรคโปลิโอ เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังและควรทำการหยอดวัคซีนให้แก่เด็กอย่างทั่วถึง เนื่องจากปัจจุบันยังพบโรคโปลิโอใน 4 ประเทศ คือ อินเดียไนจีเรีย  อัฟกานิสถาน และปากีสถาน  ที่สำคัญยังพบว่ามีการแพร่กระจายเชื้อไปยังประเทศอื่นๆ จากการอพยพย้ายถิ่น หรือการย้ายเข้ามาทำงาน ซึ่งจะพบมากตามบริเวณชายแดน ซึ่งแต่ละประเทศควรมีแนวทางการป้องกันที่ดี

         

          ด้าน นพ.ราเจซ ปาเตีย ที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มแพทย์มีความกังวลเรื่องของการใช้ยาปฏิชีวนะว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจไม่มีตัวยาปฏิชีวนะใหม่ๆ ออกมาให้ใช้ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจทวีความรุนแรง จนเกิดการดื้อยา โดยสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา มียาตัวใหม่ออกมาเพียง 2 ชนิด โดยแต่ละชนิดต้องใช้การลงทุนสูงถึงตัวละประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เมื่อผลิตออกมาก็สามารถใช้ได้เพียง 3-4 ปี ก็พบการดื้อยาขึ้น อุตสาหกรรมยาจึงไม่ผลิตยาในกลุ่มนี้ แต่หันไปผลิตยาในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง แทน

         

          ดร.ราเจซ กล่าวด้วยว่า สาเหตุของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมนั้น มาจากปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านเทคนิคการแพทย์หรือเครื่องมือแพทย์ ปัญหาด้านการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ ปัญหาจากพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยคิดและเข้าใจว่า ยาปฏิชีวนะนั้นค่อนข้างจะกินง่ายและสามารถรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที  ที่สำคัญมีราคาที่ไม่แพงมากนักจึงเลือกที่จะบริโภคกันมาก ดังนั้น สิ่งที่ who ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการที่ต้องเร่งให้ความรู้เรื่องยาชนิดดังกล่าวมากขึ้น

        

          ด้าน นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กล่าวว่า  การดื้อยานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาลที่คนไข้มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลินทรีย์มาระยะหนึ่งแล้วนั้น สามารถติดเชื้อข้ามกลุ่มกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างรุนแรง โดยพบประมาณร้อยละ 50  ที่เกิดภาวะดังกล่าวจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ฮูจึงเรียกร้องให้มีนโยบายแก้ปัญหาต่างๆ  เช่น การรักษาแบบผสมผสาน  การจ่ายยาอย่างรอบคอบ การติดตามผู้ป่วยให้มีการรักษาแบบครบคอร์ส การฝึกด้านการควบคุมโรคติดต่อ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในการปฏิบัติการสัตวแพทย์  และระบบเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตรวจสอบภาวะฉุกเฉินและการกระจายของการดื้อยา ซึ่งขณะนี้ฮูได้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกในเรื่องกฎหมายและนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และการจัดตั้งเครือข่ายห้องทดลองสำหรับการเฝ้าระวัง และการมั่นใจต่อการใช้ยาอย่างรอบคอบ

         

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการรายวัน

 

 

 

 

update : 09-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code