ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง

ที่มา : แฟนเพจ The Momentum


ภาพประกอบจาก แฟนเพจ The Momentum


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


ในโลกของจินตนาการ ซูเปอร์ฮีโร่ของเราจะต้องเป็นจอมพลัง เหาะเหินเดินอากาศ แปลงร่างได้อย่างใจคิด แต่ในชีวิตจริง ปัญหาของผู้คนล้วนมีความหลากหลาย ฮีโร่เพียงคนเดียวอาจแบกรับภาระนี้ไม่ได้ ไปทำความรู้จักกับฮีโร่ในชีวิตจริง ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง


ทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ นักวิ่ง/นักแสดง “ตอนนั้นเริ่มจากภรรยาป่วยเป็นมะเร็งแล้วรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมก็ข้ามมาวิ่งที่สวนลุม เราก็ได้เห็นความแตกต่าง ตอนอยู่โรงพยาบาลก็มีแต่ความเจ็บป่วย ข้ามมาฝั่งนี้ก็เห็นแต่คนมีกำลัง มีสุขภาพดี เราก็เริ่มรู้สึกอยากวิ่งรณรงค์เพื่อทำให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญถึงการมีสุขภาพที่ดี”


“การวิ่งมันง่าย ไม่ต้องมีคู่ซ้อม มีแค่รองเท้ากับกางเกงก็วิ่งได้แล้ว และยังเป็นช่วงเวลาที่เราได้ล้างใจ ทบทวนสิ่งต่างๆ บางอย่างคิดได้ก็ตอนวิ่งนี่แหละ”


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทนงศักดิ์กลายเป็นนักวิ่งมืออาชีพที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนมาก ทั้งการช่วยสอนให้กับทุกคนที่ต้องการวิ่งอย่างจริงจัง แม้กระทั่งดารานักแสดงด้วยกันเอง


เส้นทางการเป็นนักวิ่งของเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเอง แต่ยังเป็นผู้นำในโครงการวิ่งต่างๆ มากมายที่ได้แรงสนับสนุนจาก สสส. เช่น โครงการ Run For The One We Love วิ่งเพื่อคนที่เรารัก และ โครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ ซึ่งทุกครั้งที่เขาก้าวออกวิ่ง จะนำแนวคิดที่อยากให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีไปด้วย


พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) ที่ปรึกษาโครงการคุยเรื่องเพศ “เด็กอายุตั้งแต่ 2-3 ขวบก็สามารถเริ่มคุยกับเขาได้แล้ว โดยคุยเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว การมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศทำให้เด็กมีเกราะป้องกันอันตรายต่างๆ มีทักษะการดูแลตัวเอง เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย เป็นการฝึกทักษะการคิด การตัดสินใจ และทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์”


หมอโอ๋มีประสบการณ์ดูแลเด็กมานาน จึงมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาโครงการคุยเรื่องเพศที่พุ่งเป้าไปทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่ช่วยแพร่ขยายขอบเขตความรู้เรื่องเพศในสังคมที่กว้างขึ้น


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


ปัญหาความรู้เรื่องเพศของเด็ก เป็นปัญหาที่ต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ก่อน เพราะครอบครัวคือด่านแรกที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด แต่ยุคสมัยปรับเปลี่ยน พ่อแม่ผู้ปกครองกลายเป็นคนรุ่นเก่าที่ต้องปรับทัศนคติให้ทันสมัย การทำความเข้าใจในเด็กที่เป็นคนละเจเนอเรชันกันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย


รายการ 'Sexpert Family' เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่ใช่แค่ทำรายการออกมาให้คนทั่วไปหรือผู้ปกครองได้ดู แต่ยังเป็นสื่อการเรียนการสอนที่โรงเรียนบางแห่งนำไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ www.คุยเรื่องเพศ.com ยังเป็นอีกช่องทางที่สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบหรือหาคำตอบเรื่องเพศให้กับลูกได้


อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. / รองประธานโครงการเครือข่ายไร้พุง “อ้วนลงพุงเกิดจากพฤติกรรม 90% ไม่ใช่เพราะกรรมพันธุ์ คนชอบกินแป้งเยอะ กินเค็มจัด กินผักผลไม้น้อย”


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


กลไกธรรมชาติของมนุษย์ถูกสร้างให้กินเพื่อเอาชีวิตรอด แต่การกินก็สร้างโรคภัยไข้เจ็บให้กับมนุษย์ได้เช่นกัน พฤติกรรมการกินบางอย่างกลายเป็นจุดบอดที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น การอ้วนลงพุงที่นำไปสู่โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้รักษาหายกันในวันเดียว


อาจารย์สง่าหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการเรื่องสุขภาพและการกินให้ถูกต้องตามโภชนาการมานาน ผ่านการทำโครงการเพื่อลดจำนวนประชากรที่อ้วนลงพุงกันมามากมาย ดังเช่น โครงการคนไทยไร้พุงที่ทำมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี


อาจารย์สง่ากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า แม้วันนี้จะยังไม่บรรลุเป้าหมายในด้านของสถานการณ์โภชนาการการกินของคนไทย แต่สิ่งที่ประสบความสำเร็จก็คือ คนในสังคมได้รับรู้ว่า 'อ้วนลงพุง' คือปัญหาที่เราต้องตระหนัก ต้องลด และรู้ว่าถ้าจะลดต้องทำยังไง


แต่พฤติกรรมการกินที่ถูกวิธีอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ระบบในร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องขยับร่างกาย ดังเช่นกุศโลบายของ สสส. ที่คุ้นหูกันดีว่า 'แกว่งแขนลดพุง' นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งโครงการที่ถูกออกแบบเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่ต้องลดภาวะการเนือยนิ่งเพราะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะอ้วนลงพุงนั่นเอง


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะฯ เครือข่ายองค์รกรงดเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือตัวแปรหนึ่งที่ทำให้คนขาดสติ และเปรียบเสมือนแคปซูลสีลูกกวาดบรรจุยาพิษ ที่ยั่วยวนให้คนหลงใหลในบรรยากาศ


วิษณุเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อมุ่งลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ ซึ่งหากย้อนไป 10 ปีก่อนหน้านี้จะพบว่ามีสถิติอยู่ที่ 40% นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว


โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา คือหนึ่งในโครงการที่สามารถสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ทั้งในกลุ่มคนเมืองและคนต่างจังหวัด คำพูดคุ้นหูอย่างคำว่า 'พักตับ' เป็นคำสั้นๆ ที่ถูกพูดถึง


เพราะเครื่องจักรทำงานยังต้องมีพัก ร่างกายคนเราก็เช่นกัน ที่การงดเหล้าหรือพักตับ เป็นเหมือนการให้ร่างกายได้พักร้อนนั่นเอง


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


มงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย “ตัวผมสูบบุหรี่มานานมาก ประมาณ 36 ปี คิดว่ายังไงก็คงเลิกไม่ได้หรอก แต่พอตัดสินใจเริ่มต้นโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน มันก็เหมือนตัวผมได้ตั้งธงไว้ว่า ผมจะต้องเป็นคนแรกที่เลิกบุหรี่ได้ แล้วผมก็ทำได้จริงๆ”


การต่อสู้กับตัวเองเพื่อเลิกบุหรี่ก็ว่ายากแล้ว แต่ต่อสู้เพื่อให้คนจำนวนมากเลิกบุหรี่ได้ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก หมอมงคลใช้ประสบการณ์จากที่ตัวเองเคยเป็นนักสูบ และเลิกสูบได้ด้วยความมุ่งมั่นเต็มร้อย และเข้าใจเป็นอย่างดีว่า “บุหรี่เป็นตัวบั่นทอนสุขภาพของคนไทยมากขนาดไหน”


หมอมงคลทำงานภายใต้เครือข่ายหมออนามัย และได้รับแรงสนับสนุนจาก สสส. โดยใช้ตัวเองเป็นชนวนตั้งต้นที่จะเลิกบุหรี่


“จะเลิกบุหรี่ยังไงก็เลิกได้อยู่ที่ใจ ถ้าเรามีเป้าหมายอดทนบังคับตัวเองได้ ยังไงก็หลุดพ้น”


จากเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้ได้ 3 ล้านคนใน 3 ปี เพียงแค่เริ่มต้นปีแรก ก็มีผู้มาลงชื่อเข้าร่วมโครงการถึง 530,000 คน และเลิกได้จริง 100,000 คน


แม้จะยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย แต่คุณหมอจะยังคงเดินหน้าต่อเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับใครที่ต้องการเลิกบุหรี่หรือลงชื่อเพื่อเข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการสามารถเข้าไปที่ http://www.quitforking.com/


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร “สังคมไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 30%”


สังคมไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย การเตรียมรับมือล่วงหน้าถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนที่วางแผนก่อน สุรเดช อยู่เบื้องหลังโครงการโรงเรียนผู้นำผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง


ด้วยความที่คลุกคลีกับผู้สูงอายุในพื้นที่มายาวนาน เขารู้ว่าการแก้ปัญหาผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างและหลากหลาย จึงไม่มีแบบแผนตายตัวที่จะสามารถใช้ได้ทั้งประเทศ


การพูดคุยสอบถามอย่างใกล้ชิดคือหนทางสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เช่น การแก้ปัญหาที่เกิดจากเรื่องผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำ พวกเขาก็ช่วยกันทำราวเกาะในห้องน้ำ จนกลายเป็นโครงการระดับจังหวัดที่รัฐก็ยื่นมือเข้ามาช่วย


อย่างไรก็ดี สังคมสูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องผู้สูงอายุ จะเตรียมตอนอายุ 60 ปีก็คงไม่ทัน ฉะนั้นควรเตรียมตัวตั้งแต่อายุยังน้อยในเรื่องปากท้องและรายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเริ่มคิด


สสส. เป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นเล็กๆ ที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ การขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุทั้งจังหวัดพิจิตร ถือเป็นจังหวัดที่ทำได้จริง และนำไปเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


ธนภัทร แสงหิรัญ หัวหน้าโครงการฮักบ้านเกิด ความสุขอยู่ที่บ้านเรา นึกถึงวิวทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ บรรยากาศที่ไร้มลภาวะ สำหรับคนเมือง การได้ไปพักผ่อนต่างจังหวัด กลายเป็นออกซิเจนที่หลายคนโหยหา แต่จะมีสักกี่คนที่รู้สึกแล้วทำอย่างธนภัทร แสงหิรัญ ผู้ก่อตั้งโครงการฮักบ้านเกิด ความสุขอยู่ที่บ้านเรา


“จุดเริ่มต้นเกิดจากตัวเราเองทำงานที่กรุงเทพฯ แต่พอวันหยุดได้กลับบ้าน เรารู้สึกอยู่บ้านแล้วมีความสุข จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านแล้วทำโครงการฮักบ้านเกิด ความสุขอยู่ที่บ้านเรา ซึ่งตรงนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จุดประสงค์หลักๆ ของเราคือ อยากเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนของตัวเอง หรือจะอยู่ที่ไหนก็ได้เห็นคุณค่าในชุมชนของตัวเอง”


โครงการนี้ คล้ายการหว่านเมล็ดพันธุ์ ทำงานกับเด็กๆ ในหลายชุมชน เพราะเด็กคือต้นอ่อนที่จะเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงในวันหน้า การปลูกฝังให้คนรักบ้านเกิด ฝึกคิดเป็นนักสร้างและพัฒนาให้ชุมชน สิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเป็นความภูมิใจ เป็นตราประทับว่า ประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดขึ้นมาจากสองมือของเด็กๆ ในชุมชนจริงๆ


ดังเช่นเด็กๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร พวกเขาสามารถกำจัดบ่อขยะในหมู่บ้านออกไปได้ด้วยตัวเอง ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่เด็กๆ อาศัยความกล้าและมุ่งมั่น และมีศรัทธาที่เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ถ้าได้ลงมือทำ


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


สว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล "ลักษณะทางกายภาพไม่ค่อยเอื้อให้เราออกมาใช้ชีวิตได้สะดวกเหมือนคนทั่วไป ถึงอย่างนั้น พวกเราก็อยากออกมาใช้ชีวิตข้างนอก ขอแค่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราสามารถใช้ได้แค่นั้นเอง"


หลายปีที่สว่าง ศรีสม ทำงานผลักดันโครงการต่างๆ ของคนพิการ หนึ่งในนั้นคือโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล


สว่างทำงานด้วยความตั้งใจและอุดมการณ์ที่ชัดเจน ทั้งการออกเดินทางหาคำตอบด้วยตัวเองเพื่อทดลองใช้บริการ จะได้รู้ด้วยตัวเองว่าคนพิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกหรือเปล่า รวมถึงเรื่องการผลักดันกฎหมาย ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คือสิ่งที่จะชี้วัดว่าสังคมนี้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขมากแค่ไหน


ทุกคนมีความต้องการแตกต่างหลากหลาย คนพิการไม่ใช่คนด้อยโอกาส แค่ต้องการสิ่งช่วยให้เขาถึงโอกาสเท่านั้น การมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนใช้ได้จริงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน


สังคมไทยยังคงติดภาพลักษณ์คนพิการว่าน่าสงสารที่ต้องรอคอยความเอื้อเฟื้อและน้ำใจ แต่อีกด้านหนึ่ง การช่วยเพราะสงสารก็ทำให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตได้ลำบาก และต้องยอมรับว่า น้อยครั้งที่จะมีคนรับฟังเสียงคนพิการว่าต้องการอะไร หากทุกคนช่วยกัน ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้


ฮีโร่ตัวจริงยิ่งกว่าในหนัง thaihealth


รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ที่ปรึกษาโครงการเรือนจำสุขภาวะ “คนข้างนอกอาจจะมองว่า ทำความผิดติดคุกก็ควรได้รับการลงโทษ แต่การที่ผู้ต้องขังถูกกักขังไม่มีอิสรภาพ ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่ได้กินข้าวกับครอบครัว นี่ก็เป็นการลงโทษที่มากพอแล้ว"


"ภาพที่เราเห็นคือชีวิตของผู้ต้องขังมันมีแต่ความแห้งเหี่ยว ไร้ชีวิตชีวา ทำอะไรก็ทำไปตามระเบียบ ไม่สามารถทำในสิ่งที่ใจต้องการได้”


คนมักมองผู้ต้องขังหรือผู้ที่เคยติดคุกแล้วจำแนกให้อยู่ในโซนอันตราย น่ากลัว อาจารย์นภาภรณ์ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังและเรือนจำมานานหลายปี ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่ช่วยให้แนวคิดของโครงการเรือนจำสุขภาวะกลายเป็นที่รู้จักไปในแนวกว้างขึ้น


ด้วยการทำงานที่พยายามจะสร้างสุขภาวะที่ดีในเรือนจำ ทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงบริบทแวดล้อมต่างๆ จึงใช้กิจกรรมเข้าไปเป็นเครื่องมือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และร่วมมือกันมากกว่าสั่งการ เช่น การทำเทียนหอม ผ้าบาติก ซึ่งจะเป็นผลงานที่ต่อยอดให้ผู้ต้องขังมีรายได้จากงานฝีมือของตัวเอง และสามารถนำประโยชน์ตรงนี้ติดตัวไปประยุกต์ใช้หลังพ้นโทษได้


นอกจากการเยียวยาด้านจิตใจแล้ว โครงการเรือนจำสุขภาวะยังจัดหน่วยทันตแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปดูแลสุขภาพให้ผู้ต้องขังอีกด้วย


งานนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังเท่านั้น แต่ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ผู้คุมที่มีต้องผู้ต้องขังก็เปลี่ยนไป และต่างช่วยกันทำให้สภาพแวดล้อมในเรือนจำมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น


 

Shares:
QR Code :
QR Code