อ.จุฬาฯ เสนอรัฐ แก้ปัญหานมโรงเรียน

หลังพบนมปลอมระบาดถึง 70%

 

 

             อาจารย์ จุฬาฯ เสนอรัฐ เร่งแก้ปัญหานมโรงเรียน หลังพบนมปลอมระบาดถึง 70% ส่ง ผลนมไร้คุณภาพ เงินไม่ตกสู่เกษตรกรโคนม เด็กต้องเทนมทิ้ง บูด เน่ากินไม่ได้ หรือได้มาฟรีไม่รู้คุณค่า หวั่นครม. แก้ไม่ถูกจุด ควรชะลอ อ.ส.ค. จัดซื้อนมวิธีพิเศษ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ชี้วิธีแก้ทุจริต รัฐให้ความรู้ด้านโภชนาการเด็กเพิ่ม เลือกอาหารให้เหมาะสมกับท้องถิ่นช่วยได้

 

อ.จุฬาฯ เสนอรัฐ แก้ปัญหานมโรงเรียน

             ผศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการประชุม นโยบาย นมโรงเรียนจัดโดย แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า นโยบายนมโรงเรียนมีปัญหามีนาน แม้รัฐบาลได้ปรับ เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการนมโรงเรียนหลายครั้ง ล่าสุดได้มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2552 ที่ ผ่านมา กำหนดให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการนมโรงเรียน เป็นผู้จัดซื้อและจำหน่ายนมโรงเรียนด้วยวิธีพิเศษให้กับท้องถิ่น แทนนายหน้า หรือเอเยนต์นม เป็นที่มีปัญหาการฮั้วประมูลแทน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตนมโรงเรียนได้อย่างแท้จริง เพราะรัฐบาลเคยใช้วิธีนี้มาแล้วในอดีตแต่แก้ปัญหาไม่สำเร็จ

 

              ปัจจุบัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณโครงการนมโรงเรียนปีละ 13,000 ล้านบาท พบว่าในจำนวนนี้เป็นนมปลอมปนมากถึง 70% มีเม็ดเงินถึงมือเกษตรกรโคนมเพียง 1,585 ล้านบาทเท่านั้น การทุจริตคุณภาพนมส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรและเด็กนักเรียน ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณ ขณะที่มีเด็กไทยได้ดื่มนมโรงเรียนเพียง 60-70% จากทั้งหมด ราว 10 ล้านคน ส่วนเด็กอีก 40% ไม่ได้ดื่มนม เพราะนำไปเททิ้งจากการไม่เห็นคุณค่า หรือนมบูดเสียจนดื่มไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเร่งหามาตรการแก้ไขผศ.นพนันท์ กล่าว

 

             ผศ.นพนันท์ กล่าวต่อว่า การทุจริตมีหลายวิธี คือ 1.การ จัดซื้อของหน่วยราชการไม่โปร่งใสผิดระเบียบ 2.การ จัดสรรสิทธิจำหน่ายไม่โปร่งใส มีการเรียกค่าหัวคิว 3.โรงนม โรงงานแปรรูปนมไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีใบอนุญาตถูกต้อง 4.นมกระดาษ จัดซื้อโดยไม่มีการส่งมอบสินค้า 5.ขายนมผ่านนายหน้า หรือ มาเฟียนม 6.ปลอม ปนนมผงละลายน้ำแทนนมโคสดแท้ และ7.โรงเรียนมีสถานที่ อุปกรณ์ไม่พร้อม หรือการขนส่งไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม่มีถังน้ำแข็ง ตู้เย็นแช่นม การจัดเก็บไม่ถูกวิธีทำให้นมบูด เสีย ฯลฯ

 

              ขอเสนอให้รัฐบาลชะลอการอนุมัติให้ อ.ส.ค.ได้รับสิทธิพิเศษในการจำหน่ายนมโรงเรียน และเปิดเวทีสาธารณะรับฟังปัญหารอบด้าน เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องปฏิรูปนโยบายนมโรงเรียนทั้งระบบ คือ ต้องตัดวงจรนายหน้าออกจากระบบ เพราะพบว่า 12% ของกำไรจากอุตสาหกรรมนมโคสดแท้ตกไปอยู่กับคนกลุ่มนี้ ดังนั้นรัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรโคนมพึ่งตนเองได้ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรอง ให้เกษตรกรผู้ประกอบการรายย่อย รัฐลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้เพื่อที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงงาน อุตสาหกรรมแปรรูปนมรายใหญ่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดซื้อนม และการเพิ่มทางเลือกโภชนาการเด็กนอกเหนือจากการดื่มนมเพียงอย่างเดียวผศ.นพนันท์ กล่าว

 

             ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผอ.แผนงาน นสธ. กล่าวว่า โภชนาการด้านอาหารเสริมที่ดีไม่ได้มีแค่นมโคสดให้เด็กเท่านั้น ควรให้ความรู้ด้านโภชนาการและเสนอเมนูอาหารทางเลือกให้เหมาะสมกับท้องถิ่น แต่ละแห่งที่มีวัตถุดิบอาหารแตกต่างกัน และควรปรับงบประมาณนมโรงเรียนใหม่ โดยให้งบซื้อนมเป็นของเด็กนักเรียนแทนการให้เงินกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อให้เด็กนักเรียนรู้คุณค่าของเงิน และนมที่ได้มา ขณะเดียวกันอปท. ควรจัดประชุมร่วมกับภาคประชาชน เพื่อเลือกวิธีการใช้งบประมาณ และเพิ่มแรงจูงใจให้อปท. ด้วยการเพิ่มงบประมาณ หรือรางวัลให้อปท. ดีเด่นด้านโภชนาการนักเรียน

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update 15-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

 

Shares:
QR Code :
QR Code