“อ้วนลงพุง” มฤตยูร้ายทำลายสุขภาพ

แพทย์-นักโภชนาการเตือน ยิ่งพุงใหญ่ ยิ่งตายเร็ว

 “อ้วนลงพุง” มฤตยูร้ายทำลายสุขภาพ

          โรคอ้วนลงพุง ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่หลายคนคาดไม่ถึง ยิ่งพุงใหญ่เท่าไร ยิ่งตายเร็วเท่านั้นทั้งยังเสี่ยงจากโรคร้ายที่จะตามมาทั้งโรค หัวใจ หลอดเลือด เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกลแฝงมากับพฤติกรรมการกินแบบผิดๆ นั่นเอง

 

          พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ให้ข้อมูลในการสัมมนาที่จัดโดยชมรมโภชนวิทยา มหิดล ร่วมกับ บ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ว่า โรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) เป็นฆาตกรเงียบที่หลายคนคาดไม่ถึง ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค กรรมพันธุ์ และไม่ออกกำลังกาย

 

          คนที่อ้วนลงพุงจะมีการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป ซึ่งไขมันเหล่านี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนเกิดภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรังตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถวางแผนในการควบคุมอาหารด้วยการควบคุมน้ำหนัก ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ถูกชนิด ปริมาณ และถูกเวลา รวมทั้งเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น

 

          ด้าน อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ให้การปรึกษาด้านโภชนบำบัด กล่าวว่า แม้ว่าไขมันจะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนลงพุง และโรคร้ายต่างๆ แต่ไขมันเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ ทั้งยังเป็นส่วนประกอบของอาหารทุกมื้อจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ การเลือกใช้ชนิดของไขมันและน้ำมันที่ดีที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ และไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยไม่ลดเอชดีแอล ช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ และสามารถนำไปใช้แทนคาร์โบไฮเดรตได้ด้วย

 

          อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันจะต้องเลือกชนิดละอ่านฉลากด้านโภชนาการอย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงโรคร้าย ส่งเสริมสุขภาพ และห่างไกลภาวะโรคอ้วนลงพุง

 

          ขณะที่ ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล แนะถึงวิธีการกินต้านโรค-เสริมสุขภาพว่า ให้หันมาทานผักผลไม่ให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงโรคร้ายและสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

 

          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนส่วนใหญ่กินอาหารนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถควบคุมวัตถุดิบในการทำได้ทั้งผัก เนื้อ หรือชนิดของน้ำมัน ดังนั้น จึงควรทำอาหารกินเองอย่างน้อยในวันหยุด นอกจากนี้ต้องหันมากินผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งคนที่อ้วนลงพุง รวมถึงเด็กๆ ส่วนใหญ่จะไม่ชอบกินผักและผลไม้ เราจึงต้องช่วยหาวิธีการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยอาจใช้วิธีบดผัก และผลไม้ผสมลงไปในอาหารเพื่อง่ายต่อการบริโภค รวมถึงการออกกำลังกาย สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการเดิน พยายามเดินให้มาก เป็นต้น

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

 

 

update : 03-07-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code