‘อ่านแรก’ จุดเริ่มต้นสู่การ ‘อ่านโลก’

          เป็นที่ยอมรับว่า “การอ่าน” เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ แต่ สถานการณ์ “การอ่านของคนไทย” กลับอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน

           ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์นพ.ประเวศ วะสี เอ่ยไว้ว่า การอ่านมีคุณค่าต่อชีวิต การอ่านสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ และยังช่วยสร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเข้ามาสนับสนุนให้เกิดโครงการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง กระทั่งเกิด “ต้นแบบ” ที่สามารถกระตุ้นให้เด็ก และคนในชุมชน ให้ความสำคัญกับการ “อ่าน” มากขึ้น

/data/content/23468/cms/egjlnosuz129.jpg

           โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่นำมาเรียนรู้บนเวทีปฏิรูปการเรียนรู้ส่งการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 26 โดยสำนักงานส่งเสริม สังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เมื่อเร็วๆ นี้

          ครูจันดา หมัดมุด หนึ่งในครูบรรณารักษ์ของโรงเรียน เล่าว่า จากปัญหาที่พบว่าเด็กอ่านไม่ออก และไม่คล่อง ตามมาด้วยการจัดทดสอบเด็กทั้งโรงเรียน เพื่อ คัดกรองเด็กที่มีปัญหาจริง นำมาสู่การทำโครงการเพื่อแก้ ปัญหาอย่างชัดเจน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน  เช่น จัดขนมสำหรับเด็ก การทำกิจกรรม “ครอบครัวรัก การอ่าน” โดยมีครูประจำชั้นออกเยี่ยมบ้านเด็ก และให้รางวัล กับครอบครัวที่จัดบรรยากาศบ้านที่ส่งเสริมการอ่าน

          นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมหลักที่ส่งเสริมการอ่าน กับคนในชุมชน ที่สำคัญเป็น “ตลาดนักอ่าน” ให้เด็ก และคนในชุมชนขายสินค้า โดยมีข้อแม้ว่าต้องเขียนหนังสือให้เด็กอ่านก่อนซื้อ รวมถึงจัดห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยให้ยุวทูตนำตระกร้าหนังสือวางตามจุดต่างๆ ทั้งในโรงเรียน และชุมชน

/data/content/23468/cms/adhjknprstvy.jpg

          พงษ์ศักดิ์ ชนะภู ครูบรรณารักษ์อีกคนของโรงเรียนที่เป็นผู้ขับเคลื่อน ระบุว่า ตนเองส่งเสริมการอ่าน ตั้งแต่ในครอบครัว โดยอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุข จากความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่และลูก และยังสร้างสมาธิ ทั้งปิดสวิตช์ให้ลูกนอนหลับ หลังจากเจอเรื่องต่างๆในแต่ละวัน

          ส่วน  ชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อีกกรณีศึกษาถ่ายทอดผ่าน ผู้ใหญ่บ้าน ธนิชา ธนะสารว่า การส่งเสริมชุมชนในตำบลดอนแก้วให้รักการอ่าน มีจุดเริ่มต้นจากโครงการพัฒนาด้านอื่น ในตำบล อาทิ เยาวชน สิ่งแวดล้อม จากนั้นได้พบปัญหา ว่าเยาวชนไม่ชอบอ่านหนังสือ จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านของสสส.โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลดอนแก้ว และทำงานเป็นทีมมีอาสาสมัครหมู่บ้านเป็นกลไกสำคัญ

          ความก้าวหน้าของ 2 โครงการต้นแบบ ได้รับการผลักดันจาก ผู้บริหารโครงการ สุดใจ พรหมเกิด จากมูลนิธิเด็ก ในฐานะผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน บอกว่า การที่กรมอนามัย พบว่าเด็กไทยพัฒนาการล่าช้า และดิ่งลง เป็นสถานการณ์ที่ น่าเป็นห่วง ดังนั้นโครงการส่งเสริมรักการอ่าน จึงเป็นโครงการที่มาสนับสนุนให้โรงเรียน และชุมชนเป็นกลไกกระตุ้นการอ่าน

/data/content/23468/cms/fhkrvwyz1245.jpg

          ขณะเดียวกันในเวทีการประชุม นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ต่างย้ำเตือนถึงความสำคัญ ของการอ่าน ดร.ดิเรก พรสีมา อดีตประธานคณะกรรมการคุรุสภา ย้ำว่า หากแก้ปัญหาการอ่าน ไม่ออก ได้เพียงข้อเดียว เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ ขณะเดียวกันต้องมีกระบวนการ พัฒนาให้ผู้ที่จะมาเป็นครูมีคุณสมบัติส่งเสริมการอ่านด้วย นอกจากนี้การส่งเสริมการอ่านไม่ควร รอรัฐบาล ต้องเริ่มทำกันเองในชุมชนด้วย

          ส่วน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารรร. สัตยาใส จ.ลพบุรี เล่าประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่มีพ่ออ่านนิทานให้ฟังทุกคืน ทำให้รักการอ่าน มาตลอด และทุกวันนี้เล่านิทาน 2 ภาษาให้เด็กฟังทุกเช้าที่รร.สัตยาใส จ.ลพบุรี ซึ่งพบว่า เด็กกระตือรือร้นที่จะหาหนังสืออ่านเองเพิ่มเติม และทำให้เด็กเก่งภาษาอีกด้วย เช่นเดียวกับ อาจารย์ประวิต เอราวรรณ์ กรรมการปฏิรูป ที่พ่อแม่จัดสภาพบ้าน ให้อยู่กับกองหนังสือ ไม่ใช่ของเล่น ทำให้รักการอ่าน

          เพียงแค่เริ่มต้นจากการอ่านที่ใกล้ตัว ก็สามารถเปิดโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ…

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code