อ่านหนังสือสร้างลูก สานสายใยรักแท้จากคนเป็นแม่

ลูกป่วย” อ่านหนังสือสร้างลูก สานสายใยรักแท้จากคนเป็นแม่

ตอนที่รู้ว่าลูกป่วยเป็นโรคปอดอักเสบและโรคหอบหืด เราก็ไม่สบายใจ เพราะลูกของเรายังเล็กมาก เพิ่งเกิดได้ไม่กี่เดือนเอง น้องต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลช่วงแรกๆ นั้นแทบจะกินนอนที่โรงพยาบาลมากกว่าที่บ้านเลยก็ว่าได้ เราก็เป็นห่วงลูกและต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา คนเป็นแม่ทุกคนถ้ารู้ว่าลูกป่วยตัวเองก็อยากจะเป็นแทนลูกไม่อยากให้ลูกทรมาน” คำกล่าวของนริศรา มะหะหมัด หญิงสาวอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นแม่ของ ด.ช.ซาลีม สูเจริญ อายุหนึ่งขวบครึ่งที่เข้ามารับการรักษาที่คลินิกสุขภาพเด็กดี หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหนึ่งเสียงสะท้อนที่บอกเล่าถึงความเจ็บปวดของคนที่เป็นแม่เกี่ยวกับการ เจ็บป่วยของลูกรักได้เป็นอย่างดี

นริศรามีอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อลูกของเธอป่วยก็ต้องหยุดงาน กำลังหลักของครอบครัวจึงตกไปอยู่ที่สามี เธอบอกเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ตอนที่ลูกของเธอป่วยนั้นน้องจะซึมไม่พูดจากับใคร เพื่อนเล่นก็ไม่ค่อยมีทำให้น้องกลายเป็นเด็กที่ค่อนข้างเงียบ เก็บตัวเล่นคนเดียว นอกจากกังวลในเรื่องการรักษาพยาบาลของลูกแล้ว เธอยังต้องกังวลในเรื่องพัฒนาการของลูกอีกด้วย

แต่ด้วยคำแนะนำของ รศ.นิชรา เรืองดารกานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โครงการพัฒนาศักยภาพประชากรไทย คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ชักชวนเธอให้นำลูกเข้าร่วม”โครงการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล” ก็ทำให้ความกังวลใจของเธอคลายลงไปได้หลายเปราะ

เราได้รับแจกถุงหนังสือพร้อมหนังสือนิทาน 3 เล่ม พอได้รับแจกหนังสือพี่ก็อ่านให้น้องฟังเลย ซึ่งพอเปิดหนังสือปุ๊บน้องเขาชอบมาก ในถุงนี้มีหนังสือหลายเล่ม และหนังสือแต่ละเล่มก็เหมาะกับเด็กๆ มากๆ น้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลและมีอะไรทำน้องก็ไม่เหงาแล้ว เพราะแม่ก็จะอ่านหนังสือให้น้องฟังเกือบทุกวัน อุ้มน้องนั่งบนตักแล้วก็อ่านให้ฟัง เล่มที่น้องชอบมากเป็นพิเศษก็คือหนังสือนิทานเรื่องกุ๊กไก่ปวดท้อง จะชี้ให้แม่อ่านให้ฟังซ้ำๆ อ่านไปด้วยน้องก็หัวเราะไปด้วย ยิ้มไปด้วย พอแม่อ่านจบก็ให้แม่อ่านให้ฟังอีกเรื่อยๆ หลายรอบเลย” นริศรา บอกเล่าให้เราฟังพร้อมรอยยิ้ม

ปัจจุบันนี้น้องซาลีม ได้กลับไปรักษาตัวที่บ้านแล้ว และกลับมาหาหมอตามนัดในบางครั้ง แต่ในเรื่องของการอ่านนั้น นิศราผู้เป็นแม่กลับไม่ได้ละทิ้งเธอเพียรหาซื้อหนังสือเพิ่มเติมมาให้ลูกรักของเธออ่าน เธอบอกว่า การอ่านนั้นมีประโยชน์กับลูกของเธอมาก เพราะทำให้เด็กที่เก็บตัวเงียบกลายเป็นเด็กร่าเริง และที่สำคัญพัฒนาการทางการเรียนรู้ของลูกเธอเพิ่มมากขึ้น และดูเหมือนจะมากกว่าเด็กในวัยเดียวกันด้วยซ้ำ โดยจะสังเกตได้จากการพูดที่ลูกของเธอพัฒนาการด้านการพูดและการจำดีมาก เช่น เห็นเค้กในหนังสือนิทาน หรือเห็นสัตว์ในหนังสือนิทานลูกของเธอก็จะพูดขึ้นมาตามแบบอย่างที่เขาเห็นในหนังสือ เมื่อเขาเห็นของเหล่านั้นจริงๆ

นอกจาก ครอบครัวข้องน้องซาลีมแล้ว ครอบครัวของ “แม่ติ๊ก” หรือ ปิยนุช เวียงอินทร์ ก็ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วยเช่นกัน โดยแม่ติ๊กของลูกๆ จะใช้เวลาว่างจากการทำงานพาลูกเข้ามาอ่านหนังสือในศูนย์สร้างเสริมสุขภาพโรง พยาบาลรามาและให้เด็กๆได้เลือกหนังสือที่เขาอยากอ่านด้วยตัวเขาเอง

เราโชคดีหน่อยที่ทำงานที่นี่ เราก็เอาน้องมาเลี้ยงมาเล่นที่โรงพยาบาล คุณหมอท่านเห็นน้องวิ่งเล่นอยู่ก็เลยชวนเข้าร่วมโครงการด้วย มันเหมือนเป็นโชคดีของครอบครัวเรานะเพราะว่าเราไม่ต้องไปเสียเงินซื้อของเล่นที่ราคาแพงเหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่เราได้ให้ความรู้ให้พัฒนาการกับลูกของเราให้ลูกของเราได้เล่นกับจินตนาการของเขาด้วยหนังสือที่เขาชอบ ซึ่งหนังสือทุกเล่มเขาจะเลือกอ่านเองทั้งหมด เขาชอบเล่มไหนเราก็ให้เขาเลือกเองเอาไปอ่านเอง ซึ่งการอ่านหนังสือมีประโยชน์กับเขามากเพราะผลการเรียน การจำ การแยกแยะและการวิเคราะห์ของเขานั้นดีๆ มากๆ” แม่ติ๊ก เล่า

อย่างไรก็ตามจากสถิติการสำรวจของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขระบุตัวเลขอย่างชัดเจนถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ ในช่วงปฐมวัยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547-2550 พบว่าเด็กๆ มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ามากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ตัวเลขพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าของเด็กในต่างประเทศจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ขณะที่ รศ.นิชรา ได้ระบุถึงกระบวนการในการใช้การอ่านพัฒนาศักยภาพของเด็กภายในงานเวทีสาธารณะ เรื่องหนังสือและสื่อการอ่านเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ และพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ซึ่งจัดขึ้นโดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมทั้งพูดถึงครอบครัวของน้องซาลีมที่แม่ใช้การอ่านเพื่อส่งเสริมการเรียน รู้ของลูกว่า “พัฒนาการของเด็กทารกนั้นจะค่อยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเด็กในอายุ 12-15 เดือน ถึงจะพูดได้ ซึ่งก่อนที่เด็กจะพูดได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจในด้านภาษาและคำพูดประมาณ 50-200 คำถึงจะพูดคำแรกได้ โดยในระหว่างที่แม่ให้นมลูกก็จะสามารถสร้างการเรียนรู้ทางด้านคำศัพท์ให้ลูกฟังได้ด้วยการอ่านหนังสือนิทาน หรือการเล่านิทานให้ลูกฟัง ซึ่งเด็กๆ ที่ดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน นั้น น้ำหนักจะขึ้นเยอะและสุขภาพร่างกายจะสมบูรณ์และแข็งแรง”

การอ่านให้ลูกฟังไปพร้อมกับช่วงของการให้นมลูกนั้น เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่ลงทุนต่ำแต่สร้างความคุ้มค่าระยะยาวให้ลูกรักของเราได้ โดยทางคณะของเรานั้น ได้จัดทำโครงการแจกหนังสือนิทานเพื่อเป็นสื่อการอ่านให้กับการพัฒนาเด็กๆ ที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลของเราโดยมีหลายครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้โดยคณะเราได้ร่วมสังเกตการณ์และจดบันทึกข้อมูลเด็กๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ พบว่า เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการทางด้านสมาธิดีขึ้นพูดได้มากขึ้น พี่น้องในครอบครัวรักกันมากขึ้น และเด็กอารมณ์ดีขึ้น” รศ.นิชรา ระบุ

นอกจากนี้ รศ.นิชรา ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ความรู้ของเด็กที่จะได้จากการอ่านนิทานอ่าน 1 เรื่องเด็กก็จะได้ความรู้มากขึ้น ได้คำศัพท์และการเรียนรู้ทางด้านภาษามากขึ้นหากพ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังตั้งแต่อายุ 4 เดือน อย่างสม่ำเสมอจนเด็กอายุ 36 เดือนหรือ 3 ขวบ เด็กๆ จะได้รับความรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการอย่างมหาศาลโดยเทียบเป็นสถิติได้ดังนี้ หากพ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอทุกวันวันละ 1 เรื่อง จนเด็กอายุครบ 3 ขวบ เด็กก็จะได้รับความรู้จากหนังสือนิทานมากถึง 960 เรื่อง ถ้าอ่านอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 เรื่อง เด็กก็จะได้รับความรู้ 390 เรื่อง สัปดาห์ละ 1 เรื่องเด็กก็จะได้รับความรู้จนถึง 3 ขวบ 128 เรื่องการพัฒนาการมหาศาลก็จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ หากพ่อแม่ใส่ใจและสนใจในเรื่องของการอ่านให้ลูก

ดังนั้น เนื่องในโอกาสแห่งวันของแม่ทุกคนทั่วประเทศ การเลือกหนังสือดี ๆ สักเล่มให้ลูกอ่าน อาจเป็นสะพานเชื่อมสายใยความรักและความผูกพันให้เชื่อมต่อยาวนานให้ลูกของ เราเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพในสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็ ได้ เรื่องง่ายๆ ที่แม่คนไหนก็ทำได้แค่เลือกหนังสือที่เหมาะสมให้กับลูกอ่านเท่านั้นเอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
Shares:
QR Code :
QR Code