อ่านสร้างสุข ปลุกจินตนาการ
การส่งเสริมการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย เป็นรากฐานสำคัญของการแสวงหาความรู้และสร้างเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพในทุก ๆ มิติ
แฟ้มภาพ
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), บริษัทยิบอินซอย และภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่จัดกิจกรรม "Reading in wonderland: มหัศจรรย์แห่งการอ่าน ภายใต้แนวคิด บอกรักด้วยหนังสือ : อ่านสร้างสุข ปลุกจินตนาการ สานสายใยรัก ถักทอความเกื้อกูล เพิ่มพูนทักษะสมองและชีวิต"
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า จัดงานนี้ขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ครอบครัวและทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและการอ่าน พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพแก่ภาคีเครือข่ายด้านงานวิชาการ
"จากการทำงานที่ผ่านมาของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ปัญหาที่พบมากที่สุดคือเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า ซึ่งภาษาเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต เพราะถ้าเด็กไม่รู้จะสื่อสารอย่างไรก็จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ แต่สามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย ๆ ด้วยหนังสือนิทาน" นางสุดใจ สะท้อนปัญหาพัฒนาการเด็กไทย
นางสุดใจ ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศโดยกรมอนามัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2557 พบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2557 สูงถึง ร้อยละ 38.2 ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยสิ้นเชิง ร้อยละ 5 และอ่านไม่ออกเขียนไม่คล่องมากกว่า ร้อยละ 30 นอกจากนั้นการศึกษาในสหรัฐอเมริกายังพบว่า การไม่รู้หนังสือคือชนวนสำคัญของคดีอาชญากรรมสูงกว่าร้อยละ 60
"พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็กสามารถช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ และทักษะการสื่อสารให้ลูกน้อยได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะเวลาพ่อแม่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง ได้โอบกอดสัมผัสถ่ายทอดความรัก เด็กจะรู้สึกว่าช่วงเวลาอ่านหนังสือเป็นช่วงของความสุขและความอบอุ่น ซึ่งเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปในตัว ทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง มีกระบวนการเรียนรู้ผ่านอารมณ์ ความรู้สึก เขาก็จะมีความสุขกับการเรียนรู้"
ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ยังบอกด้วยว่า การสร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือ เป็นวิธีสร้างสุขภาวะที่ดีอีกด้านหนึ่ง เพราะเมื่อเด็กรักที่จะเรียนรู้จะทำให้เขามีพัฒนาการด้านสมองที่ดี สร้างความคิดเชิงเหตุผล นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาอย่างมีสติ มีการสื่อสารด้านอารมณ์ที่ชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแต่สุขภาวะทางปัญญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาวะทางสังคมด้วย
ด้าน นางจันทร์เพ็ญ สินสอน ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน ที่ทำงานกับเด็กมานานนับ 10 ปี บอกว่า การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังสามารถผ่อนคลายความเครียดให้เด็กได้ เพราะหนังสือนิทานจะมีรูปภาพที่สวยงามดูสะดุดตา เรื่องราวตลกขำขันที่สอดแทรกคติสอนใจต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากที่จะทำให้เด็กหลั่งสารแห่งความสุขออกมาโดยไม่รู้ตัว และจดจำเรื่องราวได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้กับเด็ก เพราะการได้ใช้เวลาร่วมกันจำเป็นมากสำหรับเด็กเล็ก ฉะนั้นนอกจากการเล่านิทานจะสามารถสร้างจินตนาการและความสุขทางด้านจิตใจให้เด็กแล้ว ยังส่งผลถึงสุขภาพทางกายด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กมีความสุขทางใจเขาก็จะดำเนินชีวิตไปด้วยความสุข
"ผมจะอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็ก ในช่วงแรกลูกอาจจะงอแงแต่เราต้องอดทนทำไปเรื่อย ๆ ในระยะหลังเขาจะมีสมาธิและมีพัฒนาการด้านสมองที่ดีขึ้น การจัดงานในครั้งนี้ทำให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง" นายวรพงษ์ มณีพรม คุณพ่อลูกสอง วัย 36 ปี บอกเล่าประสบการณ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์