“อุบัติเหตุ-ทะเลาะวิวาท-ยากจน” วิกฤตคนไทยกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

เข้าใกล้เทศกาลหยุดยาว อันถือเป็นช่วงเวลารวมญาติของครอบครัวไทยอย่างเทศกาลสงกรานต์ทีไร เป็นที่ทราบกันดีว่าในแต่ละปี คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องสังเวยชีวิต หรือกลายเป็นคนพิการ ด้วยสาเหตุหลักที่มาจาก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ไม่นานมานี้ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบในประเทศไทย พ.ศ.2556 และรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด พ.ศ.2554 ซึ่งข้อมูลหลายประการ ชี้ให้เห็นว่า แม้ภาครัฐจะพยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมการจำหน่ายและพฤติกรรมการดื่มที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน (ngo) หลายองค์กรจะพยายามรณรงค์ให้เห็นโทษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ที่ผ่านมา กลับไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก

จากรายงานดังกล่าว พบว่าปริมาณนักดื่มหน้าใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างถึงการสำรวจระหว่างปี พ.ศ.2551-2553 พบว่าแต่ละปี มีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นปีละ 2.5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งชายและหญิง ระบุว่าเริ่มหัดดื่มครั้งแรก เฉลี่ยเมื่ออายุ 14 ปี (กำลังศึกษาในระดับมัธยมต้น) และในจำนวนนี้ ร้อยละ 6 ยังระบุว่าเคยดื่มในระดับที่เรียกว่า “จัดหนัก” มากกว่า 6 ครั้งต่อเดือน

เมื่อแยกตามภูมิภาค พบว่าจังหวัดทางภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าภาคอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยในรายงานระบุว่า 10 จังหวัดที่มีประชากรวัยรุ่น (อายุระหว่าง 15-19 ปี) ดื่มสุรามากที่สุด คือ 1.พะเยา ร้อยละ 30.4 2.แพร่ ร้อยละ 30 3.เชียงราย ร้อยละ 25.8 4.นครพนม ร้อยละ 25.7 5.น่าน ร้อยละ 25.1 6.ขอนแก่น ร้อยละ 24.1 7.หนองบัวลำภู ร้อยละ 23.9 8.ลำปาง ร้อยละ 23.9 9.เลย ร้อยละ 23.4 และ 10.กำแพงเพชร ร้อยละ 22.9

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุ พบว่าพื้นที่ใดที่ผู้ใหญ่มีสัดส่วนการดื่มที่มาก เด็กและเยาวชนในพื้นที่ก็จะดื่มมากตามไปด้วย เพราะสภาพแวดล้อมได้หล่อหลอมให้คิดว่า การดื่มสุราเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำได้ง่าย แม้จะมีกฎหมายห้ามจำหน่ายแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีและอนุญาตให้ขายได้เฉพาะเวลา 11.00-14.00 น. กับเวลา 17.00-24.00 น. ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงกับควบคุมได้เฉพาะร้านสะดวกซื้อชั้นนำเท่านั้น ขณะที่ร้านค้าทั่วไปในชุมชน (โชห่วย) ที่ผู้ซื้อกับผู้ขายสนิทสนมกัน พบว่ายังมีการลักลอบจำหน่ายในช่วงเวลาห้ามขาย หรือขายให้ผู้มีอายุไม่ถึงเกณฑ์อยู่เสมอ

เมื่อมาดูมาตรการลดปัญหาอุบัติเหตุจากการเมาสุรา พบว่าทั้งที่มีการรณรงค์กันทุกปี ไม่ว่าจะปีใหม่หรือสงกรานต์ แต่สัดส่วนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังอยู่ในอัตราที่สูง โดยเมื่อดูสถิติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่าสงกรานต์ 2555 มีผู้เสียชีวิตช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เม.ย.) 320 ราย บาดเจ็บ 3,320 ราย ขณะที่ปีใหม่ 2556 ช่วง 7 วันอันตราย (27 ธ.ค.2555-2 ม.ค. 2556) มีผู้เสียชีวิต 365 ราย บาดเจ็บ 3,329 ราย ทั้งนี้หากอ้างอิงกับข้อมูลของศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ที่สำรวจระหว่างปี 2548-2553 พบว่าช่วงเดือนธันวาคมกับเดือนเมษายน อันเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลสำคัญ 2 เทศกาลดังกล่าว จะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงกว่าเดือนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ในประเด็นความรุนแรงจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ จากรายการประเมินผลการรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2554” พบว่าประชากรถึง 3 ใน 4 เคยพบเห็นความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเป็นการทะเลาะโต้เถียง แต่ยังไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือ ในกรณีเพื่อนบ้าน-เพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 79.3 และในกรณีของครอบครัว ร้อยละ 76.6 แต่หากถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน พบว่าเป็นกรณีของเพื่อนบ้าน-เพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 40.6 และเป็นกรณีในครอบครัว ร้อยละ 30.7

และเมื่อแยกกลุ่มนักดื่มตามฐานะทางเศรษฐกิจ พบว่าผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับล่าง (รากหญ้า) กลับเป็นผู้ที่เสียค่าใช้จ่ายให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด โดยอ้างอิงจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เมื่อปี 2553 ครัวเรือนกลุ่มยากจนที่สุด ใช้จ่ายไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสัดส่วนร้อยละ 6.7 แต่ครัวเรือนกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด ใช้จ่ายไปกับเรื่องดังกล่าว เพียงร้อยละ 3.6 เท่านั้น นอกจากนี้หากดูแนวโน้มตั้งแต่ปี 2543-2553 ครัวเรือนฐานะปานกลางไปจนถึงร่ำรวย สัดส่วนการใช้จ่ายไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มคงที่ไปจนถึงลดลง เว้นแต่ครัวเรือนยากจนเท่านั้น ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวสรุปว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย (สำรวจล่าสุดปี 2554) พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยมีการดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็น 7.1 ลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี หรือเท่ากับการดื่มสุรากลั่นประมาณ 18 กลม เบียร์ 61 ขวดใหญ่ และ ไวน์ 1 ขวดรวมกัน และยังพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นกว่า 1.2 แสนร้านทำให้การเข้าถึงการบริโภคได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะซื้อจากร้านขายของชำ

“อัตราการดื่มที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำการตลาดอย่างหนักของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เปลี่ยนจากสื่อหลักโดยโฆษณาทางทีวี วิทยุ ไปสู่สื่อในพื้นที่ โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ และการโฆษณา ณ จุดขาย แม้ว่าจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลง แต่ระดับความรุนแรงของคดีอุบัติเหตุมีเพิ่มขึ้น เมื่อดูจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บสาหัสในปี’54 ยังพบว่าสุราเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 ของคดีอุบัติเหตุ โดยช่วงเทศกาลจะเพิ่มเป็นอันดับ 1 โดยพบว่า 3 ใน 5 หรือ ร้อยละ 70ของอุบัติเหตุที่เกิดในช่วงเทศกาล มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากกว่าที่กฎหมายกำหนด” นพ.ทักษพล กล่าวทิ้งท้าย

นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่แล้ว ประชาชนทั่วไป การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลยย่อมดีที่สุด แต่หากยังติดกับความเชื่อบางประการ ทำให้ยังคงดื่มต่อไป เราก็ขอให้ทุกท่านดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดื่มแล้วต้องไม่ขับขี่ยานพาหนะไปบนท้องถนน เพราะผู้ดื่ม มักไม่รู้ว่าตนเมาหรือไม่ อันจะนำไปสู่อุบัติเหตุนำความสูญเสียมาสู่ตนเอง และผู้อื่นที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ได้ในที่สุด

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

Shares:
QR Code :
QR Code