อุบัติเหตุสงกรานต์ร้ายกว่าปีใหม่

100% ตายเพราะไม่สวมหมวกกันน็อค

 

 อุบัติเหตุสงกรานต์ร้ายกว่าปีใหม่

             ศวปถ. ชี้ อุบัติเหตุเจ็บ-ตายสงกรานต์ เลวร้ายกว่าปีใหม่ อึ้ง 100% ตายเพราะไม่สวมหมวกกันน็อค พบปิคอัพต้นเหตุสังเวยชีวิตเกือบ 50% เผยบังคับใช้กฎหมายได้ผลเพิ่ม แต่ยอดจับขับย้อนศรโผล่เกือบ 2 หมื่น แนะหามาตรการใหม่ ศึกษาแนวทางสร้างคมนาคมปลอดภัย เน้นเยาวชนเมาไม่ขับ

 

              นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวถึงการวิเคราะห์สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลคงที่มาเป็นเวลา 4 ปี อยู่ระหว่าง 361-373 ราย หรือ 52 รายต่อวัน เมื่อพิจารณาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า ข้อมูลผู้เสียชีวิต ทั้งผู้ขับและโดยสารที่ทราบประวัติการดื่มสุราจากศูนย์นเรนทร สาเหตุหลักยังมาจากการเมาสุรา 39.36% สัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 58.6% สูงกว่าสัดส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลเกินครึ่งหรือ 59.3% เป็นผู้ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ในจำนวนนี้ 91% ไม่สวมหมวกกันน็อค และยังพบว่าวันที่ 14 เม.ย. ผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 100% ไม่สวมหมวกกันน็อค

 

              นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตของผู้ขับขี่และโดยสารรถปิกอัพ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2552 อยู่ที่ 13.39% เป็น 17.78% หรือ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิต และยังพบว่ารถปิคอัพเป็นคู่กรณีที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ 27.46% เป็น 30.37% และในช่วงการเดินทางไป-กลับ วันที่ 12 เม.ย. รถปิคอัพเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 42.65% และวันที่ 17 เม.ย. รถปิคอัพเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 48.94% ทั้งนี้ การเข้มงวดผู้กระทำผิดแม้ว่าจะมียอดการเรียกตรวจลดลง แต่สามารถบังคับคดีได้ถึง 501,593 ราย หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยเฉพาะกรณีขับขี่รถเร็ว จับกุมได้เพิ่มขึ้นถึง 47% ส่วนคดีอื่นที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ สามารถจับกุมกรณีขับรถย้อนศร 19,410 ราย ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 14,536 ราย ใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ 8,624 ราย และ แซงในที่คับขัน 8,603 ราย ซึ่งหากหยุดพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยระงับให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

              “จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาพรวมของการเกิดอุบัติเหตุลดลงเพียงเล็กน้อย มาตรการที่ดำเนินการอยู่อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการวางนโยบายการป้องกันอุบัติเหตุจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายให้เข้มงวด ประเมินผลและปรับเปลี่ยนทรัพยากร รวมทั้งแนวทางการทำงาน รวมทั้งศึกษามาตรการที่ปลอดภัยในการโดยสารรถประเภทต่างๆ และทบทวนมาตรการควบคุมการเมาแล้วขับ โดยเฉพาะในเยาวชน เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตนพ.ธนะพงศ์ กล่าว

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

 

Update 26-04-53

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด

Shares:
QR Code :
QR Code