อุบัติเหตุทางถนนหลายฝ่ายต้องร่วมมือ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


อุบัติเหตุทางถนนหลายฝ่ายต้องร่วมมือ thaihealth


อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนหลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน


ถือได้ว่าเป็นชิ้นงานระดับโบแดงของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกชิ้นหนึ่งถึงการตระหนักและป้องกันภัยเรื่องความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย เพราะจากสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 33.9 ที่เกิดจากความประมาท ขาดวินัย ฯลฯ ซึ่งหลายๆ หน่วยงานควรผนึกกำลังเพื่อแก้ไขและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนทางถนนอย่างจริงจัง


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ได้ให้การ สนับสนุน กับแผนงานสนับสนุน การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ที่ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัย ทางถนน (ศวปถ.) จนเกิดเป็นผลประจักษ์ ในสังคมว่า การแก้ไขและป้องกันปัญหา อุบัติเหตุบนท้องถนนได้เดินมาถูกทางแล้ว


นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า แนวทางการแก้ไขเราจะใช้นโยบาย 5 เสาหลัก ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ คือ 1.ระบบบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยทางถนนให้มากขึ้น 2.ถนน โครงสร้าง ถนนควรมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพของถนนอย่างละเอียดในแต่ละพื้นที่ 3.ยานพาหนะ ต้องมีข้อกฎหมายที่ชัดเจนและหนักแน่น ที่จะเอาผิดกับผู้กระทำผิดบนถนนให้ เด็ดขาด 4.ผู้ใช้รถใช้ถนน ต้องมีมาตรการ ตรวจจับ เช่น กล้อง cctv เพราะถ้าจัดการคุณภาพบนถนนที่ดีได้ ก็จะเข้าไปกำกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ได้ดีมากขึ้น 5.ดูแลเยียวยา ให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและรู้วิธีการอย่างถูกต้อง เพื่อลดการเสียชีวิตจากจุดเกิดเหตุได้ หรือผู้ช่วยเหลือ รู้จักป้องกันตนเองได้ไม่กระทำการใดเสี่ยงจนเกินไป


อุบัติเหตุทางถนนหลายฝ่ายต้องร่วมมือ thaihealth


นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า ต้องขอบคุณ สสส. ที่เป็นฟันเฟืองคอยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีความสัมพันธ์กันในเรื่องการดูแลสุขภาพคนไทยในหลายมิติ เพื่อส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพให้ขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่น รวมทั้งมีการรณรงค์ในเรื่องการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาโดยตลอด เช่น โครงการ "ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย" เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ ครอบครัวและความมั่นคงในชีวิตของคนไทย


นพ.ธนะพงศ์ กล่าวสรุปถึงตัวเลขของอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ทราบ ว่า หากเทียบอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 แสนคนแล้วพบว่า 10 อันดับจังหวัดที่เสียชีวิตน้อยที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ยะลา แม่ฮ่องสอน สตูล อำนาจเจริญ ปัตตานี ศรีสะเกษ นราธิวาส สุโขทัย น่าน ขณะที่ 10 อันดับที่เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ระยอง สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี ดังนั้นหากหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบทางด้านนี้ปฏิบัติได้ทั้ง 5 ข้อ ประเทศไทยก็ลดจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ แต่ประชาชนเองก็ต้องร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นร่วมหาแนวทางการแก้ไข ให้ความสำคัญเรื่องการขับขี่ปลอดภัย โดยเริ่มจากระดับชุมชนสู่ระดับตำบลและระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัด เพื่อรายงานปัญหาในพื้นที่ให้เกิดการแก้ไขได้ทันท่วงที


อุบัติเหตุทางถนนหลายฝ่ายต้องร่วมมือ thaihealth


สำหรับตัวเลขของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาล ขอนแก่น ด้านการควบคุมป้องกันอุบัติเหตุ สรุปผลให้ทราบว่า 45% ของผู้เสียชีวิต เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ ผู้ใช้รถ จักรยานยนต์ 39% คนเดินเท้า 5% และ คนขี่จักรยาน 1% ซึ่งอันดับที่ 1 ของผู้เสียชีวิตทางถนน อยู่ในช่วง 15-29 ปี โดย 3 ใน 4 เป็นเพศชาย ซึ่งจาก ผลรายงานสถานการณ์ทำให้สะท้อนถึงพื้นฐาน ความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตวัฒนธรรม เป็นพฤติกรรมที่ประมาท ขาดวินัย ไม่เห็นคุณค่าในตนเองเท่าที่ควร ไม่ห่วงตนเองและผู้อื่น จึงเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายขึ้นดังนี้ 1.ต้องตระหนักว่า ปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนของประเทศไทย อยู่ในขั้นวิกฤติ 2.หน่วยงานทุกหน่วยงานต้องจริงจังในการดำเนินงานมากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย 3.ต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ 4.ต้องเร่งปรับระบบในกระบวนการเอาผิดกับผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด


ดังนั้นผลที่ปรากฏข้างต้นทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยข้อกำหนด เชิงนโยบายจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการที่จริงใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากที่ทุกหน่วยงานจะให้ความร่วมมือต่อกันเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ยั่งยืนตลอดไป

Shares:
QR Code :
QR Code