อุบลราชธานี “อีสาน-เหนือล่าง” ตั้งวงเล่าเรื่องเหล้า

ด้วยระยะทางที่แสนไกล แต่เพราะหัวใจที่มุ่งมั่นของเหล่าแกนนำประชาคมงดเหล้า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่ตั้งใจมาเยือนถิ่นอีสานเพื่อสืบตำนานนักสู้ที่ราบสูง ทั้งจากสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ อุบลราชธานี เมืองแห่งธรรมแดนดินถิ่นนักปราชญ์ ยโสธร เมืองบั้งไฟโก้ ขอนแก่น เมืองดอกคูณเสียงแคน และยังได้ข้ามประเทศไปชื่นชมความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่แขวงจำปาสัก สปป.ลาว แม้ระยะเวลาจะน้อยนักแต่คุณค่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคกับเพิ่มทวีขึ้น

อุบลราชธานี “อีสาน-เหนือล่าง” ตั้งวงเล่าเรื่องเหล้า

ที่ จ.อุบลราชธานี นำโดย นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร รอง นพ.สสจ.อุบลราชธานี เปิดห้องประชุมใหญ่ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากเครือข่ายประชาคมงดเหล้าภาคเหนือตอนล่าง พร้อมกับน้องๆ จากโรงเรียนบ้านท่าบ่อแสดงการรำบายศรี และรำอุบลราชธานี สร้างความประทับใจกับผู้มาเยือนยิ่งนัก ในช่วงบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นายวิทยา  บุญฉวี แกนนำประชาคมงดเหล้าได้ฉายภาพรวมการขับเคลื่อนงานในจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนนางสาวอลิษา สุพรรณ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สสจ.อุบลราชธานี ได้เสริมบทบาทการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐในฐานะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และภาคีเครือข่ายที่มีแนวทางการสร้างสรรค์สังคมร่วมกันจนสามารถผลักดันวาระร่วมเป็นนโยบายระดับจังหวัด “ปี 2555 อุบลราชธานี เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า” และมีพื้นที่ต้นแบบ ต.ปทุม อ.เมือง

อุบลราชธานี “อีสาน-เหนือล่าง” ตั้งวงเล่าเรื่องเหล้าโดยนางสำราญ พูลทอง และคณะ ที่สามารถประกาศชัยชนะ “งานบุญปลอดเหล้าทั้งตำบล” นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม สื่อสร้างสุข สื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนอุบลราชธานี และภาคีอื่นๆ เข้าร่วมวงคุยจนต้องขยายเวลาให้มากขึ้น

ในส่วนของเยาวชน นายศุกวสันต์ วงศ์ธนู หรือน้องบอม ได้นำเสนอภาพการก่อตั้ง “เครือข่ายพลังเยาวชนนักรณรงค์เฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์” จนผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนจัดตั้งเป็น “ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน” มีสำนักงานตั้งที่อาคารของสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ให้เด็กเยาวชนได้แสดงพลังสร้างสรรค์ควบคู่กับผู้ใหญ่

ด้านนายชาติรัฐ เครือหงส์ แกนนำเยาวชนจาก จ.พิษณุโลก ได้นำเสนอบทบาทของเครือข่ายการดำเนินงานเฝ้าระวังและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพื่อนำสู่เป้าหมายให้ “พิษณุโลกเป็นเมืองสุขภาพดี ปลอดบุหรี่และเหล้า” 

แม้ระยะทางกับระยะเวลาจะเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเปิดวงเล่าเรื่องเหล้าของสองภูมิภาค “เหนือล่าง-อีสาน” แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือจุดเริ่มต้นที่จะผนึกพลังสร้างแนวร่วมข้ามภูมิภาค เพื่อต้านทานการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยง “เหล้า-บุหรี่” ของคนในสังคม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนคือเป้าหมายที่ชัดเจนที่ทุกคนอยากเห็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ไม่ให้เขาต้องตกเป็นเหยื่อจากสิ่งมึนเมา และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ที่มา: เครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดอุบลราชธานี

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ