อุทาหรณ์ เหล้ากับเยาวชนถึงเวลาไล่เหล้าไปจากวัยรุ่น
เมื่อวานนี้ วันนี้ เรายังคงได้รับทราบข่าวสารที่ปรากฏอยู่ใน สังคมถึงเรื่อง อุบัติเหตุที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ และเชื่อว่าอนาคต หากไม่มีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง หรือไม่มีการชี้แนะให้เยาวชนได้รับรู้ถึงพิษภัยจากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ ข่าวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจากเหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์คงจะมีอยู่ตามปกติ
เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้มีการจัดงานเพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาได้เห็นพิษภัยของเหล้า ภายใต้ชื่อ โครงงานว่า “รับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์” โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และเครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี
ภายในงานได้มีการนำเอาตัวอย่างของเยาวชนที่เคยประสบอุบัติเหตุจากเหล้า มาบอกเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ ที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตให้ทราบ
หนึ่งในหลายๆ คน คือ นายนันทวัฒน์ โรจน์วรกุลนิธิ เล่าว่า ตอนนั้นผมอยู่ปี 4 ระหว่างประชุมเรื่องรับน้องเราก็คุยกันไปดื่มเบียร์กันไปหมดเป็นลังๆ หลังจากประชุมเสร็จ ก็เอามอเตอร์ไซค์ขี่ไปเที่ยวด้วยกันต่อ ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อมอเตอร์ไซค์เกิดประสบอุบัติเหตุ ผมสลบไป 1 วันเต็มๆ พอฟื้นขึ้นมาก็รู้ตัวว่าตัวเองสูญเสียขาไป 1 ข้าง พร้อมกับมือซ้ายใช้การไม่ได้ ความฝันในชีวิตหลังจบการศึกษาจบลงในวันนั้นทันที” ..เศร้า และ สิ้นหวัง!!!
เหตุการณ์เหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากว่า “ใครขาดสติ หรือ ไร้จิตสำนึก” ด้วยเหตุที่ว่า สภาพสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวของเราทุกวันนี้ มันเอื้ออำนวยที่จะให้เยาวชนใกล้ชิดกับเหล้ามากเหลือเกิน
รศ.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เปิดเผยถึงสภาพแวดล้อมที่รุมเร้าเยาวชน ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านเหล้ารายล้อมมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว ขณะที่นักศึกษาของที่นี่มากกว่า 50% เป็นเด็กจากต่างจังหวัด และอาศัยในหอพัก ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษาที่เกิดขึ้น เพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายทั้งในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าใต้หอพัก ไม่มี ผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด ในส่วนตัวมองว่า ปัญหาเยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เพราะนอกจากที่จะหาซื้อได้ง่ายแล้ว ยังมองว่าเยาวชนทุกวันนี้มีเวลาว่างมาก อีกทั้งกิจกรรมในสถานศึกษาไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กได้ สำหรับการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ของทางมหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาใหม่ได้รู้ ตระหนักถึงอันตรายของแอลกอฮอล์ได้
ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทาง มทร. จันทรเกษม ได้จัดให้ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ทุกคณะจะหยุดทำการเรียนการสอน และเปิดชั่วโมง home room เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาและอาจารย์ได้พบปะเพื่อพูดคุย รับฟังปัญหาของนักศึกษา ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะได้ให้คำปรึกษาอย่าง ทันท่วงที โดยได้ดำเนินการแล้วในภาคเรียนนี้
“สิ่งที่อยากจะฝากไปยังนักศึกษา ทั้งใหม่และเก่าที่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ทุกคนมีความฝันในชีวิต แต่ถ้าความฝันต้องมาสะดุดลง เพราะเหตุผลของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดแล้ว ฝันของเราก็จะไปไม่ถึงฝั่ง” รศ.สุมาลี กล่าว
นางสาวดาราลักษณ์ มงคลชัย นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิทยาการจัดการ และในฐานะนายกองค์การนักศึกษา มทร.จันทรเกษม กล่าวว่า ผลดีของการรับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ดีและอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยทำกันจริงจัง ทำให้เป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ ไม่ใช่แค่ช่วงรับน้องเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง ตนอยากฝากไปถึงรุ่นพี่ของน้องๆ ว่า สาเหตุที่ทำให้นักศึกษาใหม่ดื่มมากขึ้นส่วนมากได้รับคำชักชวนจาก รุ่นพี่ และสามารถหาซื้อได้ง่าย จึงอยากวอนว่า รุ่นพี่บางคนที่ยังดื่มอยู่ ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง อย่าคิดว่า กฎมีไว้ให้แหก เราควรจะร่วมสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับน้องใหม่ ส่วนผู้ประกอบการอยากจะบอกเขาว่า ให้มีจิตสำนึกอย่าพยายามหาผลประโยชน์กับเด็ก ลองคิดดูว่าถ้าเป็นลูกหลานของคุณแล้วจะรู้สึกอย่างไร สำหรับการรับน้องที่ปลอดแอลกอฮอล์นี้เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงที่รุ่นพี่กระทำต่อรุ่นน้องได้เช่นกัน
นายสุเทพ สดชื่น ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการ พัฒนาฯ กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา เยาวชนมีการรับรู้เรื่องของภัยแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่สวนทางกับผลสำรวจของโพลล์ต่างๆ ที่ระบุว่า เยาวชนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นนั้น เป็นเพราะนักศึกษาสามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่ายทั้งที่บ้านและสถานศึกษา จากผลสำรวจของทางมูลนิธิฯ พบว่า นักศึกษาที่ดื่มสุรา 1 คน จะเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มสุราเฉลี่ย 300 บาทต่อสัปดาห์ และข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ศึกษามูลค่าผลกระทบเชิงลบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย พบว่า รัฐบาลจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาดูแลรักษา ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการ ดื่มสุราเป็นเงินมากกว่า 2,398.21 บาทต่อคน ในด้านภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้นั้น เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าทุกๆ 1 บาท ที่ได้จากภาษีน้ำเมา รัฐและสังคมจะต้องจ่ายออกไป 2 บาท เป็นค่าความเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล สารพัด ซึ่งมันไม่คุ้มกันเลย
รับน้องใหม่ ไร้แอลกอฮอล์ จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เล็กๆ ที่จะสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงภัยของแอลกอฮอล์… เพื่อให้ความฝันที่สวยงามของทุกคนหลังจบการศึกษา เป็นจริงเจิดจ้า ที่รอทุกคนอยู่ข้างหน้าด้วยความเต็มใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า