อุดรสร้างสุข รื่นเริงรับลมหนาว สร้าง “พื้นที่สร้างสรรค์” ลด “พื้นที่เสี่ยง” ปลอดอบายมุข สู่นครสุขภาวะยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
“อุดรสร้างสุข รื่นเริงรับลมหนาว ปลอดเหล้า ปลอดพนัน ปลอดภัย” สสส. สานพลังสคล. – มรพ. – เครือข่ายสื่อ – ภาคประชาสังคม สร้าง “พื้นที่สร้างสรรค์” ลด “พื้นที่เสี่ยง” สกัดกั้นนักดื่ม – นักเล่นหน้าใหม่ จัดระเบียบสังคม สู่นครสุขภาวะยั่งยืน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ จังหวัดอุดรธานี, เครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง, บริษัท โฮมเคเบิ้ล ทีวี แอนด์ วิดีโอ 1990, สถานีโทรทัศน์ Cable Channel37HD, สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.), มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) จัดเวทีสาธารณะ หัวข้อ “อุดรสร้างสุข รื่นเริงรับลมหนาว : ปลอดเหล้า ปลอดพนัน ปลอดภัย” ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนมุมมอง ยกระดับให้ จ.อุดรธานี เป็นนครสุขภาวะต้นแบบ รณรงค์เทศกาลฤดูหนาว สร้างค่านิยมเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ด้วยวิถีชีวิตสุขภาวะ สู่วัฒนธรรมจัดงานเทศกาล งานรื่นเริง งานกาชาด และงานประจำจังหวัดสร้างสรรค์ ปลอดอบายมุขและปัจจัยเสี่ยง
นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า งานอุดรสร้างสุขฯ เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นคุณค่าของจังหวัด และร่วมกันยกระดับเมือง สู่นครสุขภาวะ ที่ผ่านมา จ. อุดรธานี ร่วมกับ สสส. และ สคล. ผลักดันการจัดงานบุญประเพณี งานเลี้ยง และกิจกรรมต่างๆ ให้ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ ปัจจุบันมีความเสี่ยงจากการพนันเข้ามาเพิ่ม จึงนิ่งนอนใจไม่ได้ จึงร่วมมือกับ สสส. – มรพ. และภาคีเครือข่าย ขยายผลสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนัก และเท่าทันปัจจัยเสี่ยงทั้งเหล้า บุหรี่ และพนัน การควบคุมดูแลปัจจัยเสี่ยงเรื่องนี้ เข้าข่ายเป็นปัจจัยเสี่ยงประเภทเสพติด ต้องทำคู่ขนานกับงานรณรงค์ให้ความรู้ และเยียวยาฟื้นฟูคนที่เคยดื่ม เคยสูบ และเคยเล่น ให้ลด ละ เลิก เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ
รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างค่านิยมให้งานบุญประเพณี ปลอดเหล้า ปลอดอบายมุข มากว่า 10 ปี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดีจากจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเครือข่ายสื่อ ที่ช่วยขยายผลการสื่อสารปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างทัศนคติที่ดี การขับเคลื่อน “พื้นที่สร้างสรรค์” ลด “พื้นที่เสี่ยง” เพื่อนำไปสู่ “นครแห่งสุขภาวะ” ไม่สามารถแยกการทำงานออกจากกันเป็นเรื่องๆ ได้ เพราะปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เป็นปัญหาที่ซ้อนทับ และท้าทายการทำงาน จึงต้องบูรณาการทำงานเชิงระบบ ทั้งในพื้นที่และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ราชการ และธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะเครือข่ายสื่อมวลชน จะเป็นกำลังสำคัญที่สานพลังในการสื่อสารประเด็นสุขภาวะสู่การรับรู้ของสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
นายบัญชารัก พงศ์อัมพรพินิต ป้องกันจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ จ.อุดรธานี มีความเข้มแข็ง ส่วนเรื่องการพนันประเภท ข. ซึ่งอยู่ในงานรื่นเริง จำเป็นต้องควบคุม และขออนุญาตให้เล่นได้ ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พรบ.การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ไม่ส่งเสริมให้มีแหล่งอบายมุข อันเป็นการมอมเมาเยาวชนและประชาชน จนทำให้ละเลยการประกอบอาชีพสุจริต นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมในอนาคต โดยจังหวัดกำชับให้เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาต และผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาข้อกำหนดอย่างละเอียด หากพบการฝ่าฝืนและละเมิดให้ดำเนินทางกฎหมายทันที
พ.ต.อ. บรรจบ สีหานาวี ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธร จ.อุดรธานี กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอประกาศให้งานทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ห้ามจำหน่าย ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บริเวณงาน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามสูบบุหรี่ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และห้ามเล่นพนันเพื่อเอาเงิน หรือทรัพย์สินอย่างอื่นๆ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบเห็นการกระทำผิดดังกล่าว ให้ผู้พบเห็นแจ้งตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายวิโรจน์ พิพัฒน์ไชยศิริ กรรมการบริหาร บริษัท โฮมเคเบิ้ล ทีวี แอนด์ วีดีโอ 1990 จำกัด ในฐานะเครือข่ายสื่อสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง และตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.อุดรธานี กล่าวว่า จ.อุดรธานี มีต้นทุนขับเคลื่อนงานพื้นที่ปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง เพราะมีฐานการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็งจากมีผู้นำเมืองที่วิสัยทัศน์ ประชาชนตื่นตัว ภาคราชการและกลุ่มธุรกิจ พร้อมทำงานเพื่อสังคม ทางโฮมเคเบิ้ลฯ ในฐานะสื่อท้องถิ่น และพี่น้องสื่อมวลชนในพื้นที่ พร้อมเป็นสื่อกลางทำหน้าที่สื่อสารสุข สร้างภูมิรู้ เป็นเกราะป้องกันปัจจัยเสี่ยงให้กับชุมชน และจะเป็นเรื่องดีถ้าความร่วมมือครั้งนี้จะถูกสานต่อไปยังอนาคต