อึ้ง!! 46% ชายฆ่าตัวตายมากกว่าหญิง
“มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” เปิดสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว พบสูงสุดฆ่ากันตาย-ฆ่าตัวตาย อึ้ง!! 46 % ชายฆ่าตัวตายมากกว่าหญิง เหตุปัญหารุมเร้า หย่าร้าง หึงหวง ทะเลาะกันเมียหนีออกจากบ้าน ชี้ส่วนใหญ่มีน้ำเมาเป็นตัวกระตุ้น ด้าน “ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” เผยประชาชนแห่ขอคำปรึกษาพุ่ง น่าห่วง 94% ต้องการยอมความ ขณะที่บางรายเข้าใจผิดคิดว่าลงบันทึกประจำวันเป็นการแจ้งความ วอนตำรวจตระหนัก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ
วันที่ 28 กันยายน 2554 ที่โรงแรมเฟิร์ส กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา “กลไกและมาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว”
นางสาวนิตยา พิริยะพงษ์พันธ์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยสถิติความรุนแรงในครอบครัวล่าสุด ปี 2553 ทางหน้าหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ ข่าวสด และคมชัดลึก พบว่า ข่าวความรุนแรงในครอบครัวมีมากถึง 296 ข่าว แบ่งเป็น ข่าวการฆ่ากันตาย 139 ข่าว หรือ 47% รองลงมาเป็นการฆ่าตัวตาย 72 ข่าว หรือ 24% การทำร้ายกัน 30 ข่าว การตั้งครรภ์ไม่พร้อม 29 ข่าว การละเมิดทางเพศในครอบครัว 18 ข่าว และในจำนวนนี้มี 63 ข่าว หรือ 21% เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หรือ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
“หากวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตาย จะพบว่า สามีจะฆ่าตัวตาย หรือ พยายามฆ่าตัวตายมากกว่าภรรยาคือมีถึง 46 % ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ อาทิ หย่าร้างกับภรรยา ภรรยาหนีไปมีสามีใหม่ หวาดระแวงภรรยา น้อยใจภรรยา ส่วนกรณีที่ภรรยาฆ่าตัวตายนั้น มีเพียง 24% ซึ่งเกิดจากการน้อยใจสามี เพิ่งเลิกกับสามี หึงหวงสามี และรักสามเศร้า ขณะที่เหลือเป็นกรณีที่ลูกฆ่าตัวตายและผู้สูงอายุฆ่าตัวตาย” นางสาวนิตยา กล่าว
นางสาวนิตยา กล่าวต่อว่า สำหรับข่าวฆ่ากันตายในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากปัญหาความสัมพันธ์ของหญิงชาย ส่วนใหญ่ สามีเป็นผู้กระทำต่อภรรยา เพราะความหึงหวง ระแวงว่าภรรยาจะมีคนอื่น คิดว่าภรรยาเป็นสมบัติของตน แม้บางรายจะหย่าร้างไปแล้ว และที่เลวร้ายคือนอกจากกระทำต่อภรรยาโดยตรงแล้ว ยังกระทำต่อลูกด้วย ขณะที่กรณีของภรรยาฆ่าสามีนั้น ส่วนใหญ่มาจากถูกสามีทำร้ายทุบตีเป็นประจำ บางรายบังคับหลับนอนด้วย ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นถึง 50%
ด้าน นางสาวพัชรี จุลหิรัญ ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 31-40 ปี แต่ก็ยังพบว่ามีกลุ่มอายุที่น้อยที่สุดคือหญิง 11 ปี ชาย 72 ปี สำหรับปี 2553 ถือว่ามีความรุนแรงมาก คือเข้ามาขอรับคำปรึกษากว่า 914 ราย และปี 2552 มี 668 ราย ส่วนกรณีปัญหาความรุนแรงในปี 2552 มี 985 กรณีปัญหา และในปี 2553 มีมากถึง1,756 กรณี ทั้งนี้หากจำแนกการให้คำปรึกษา พบว่า 40 % ต้องเข้าพบนักสังคมสงเคราะห์ รองลงมา 39% เป็นคดีแพ่ง และ 21% เป็นคดีอาญา โดยความรุนแรงระหว่างบุคคลในครอบครัวที่พบมากคือ การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้ถูกกระทำเหล่านี้ เจ้าหน้าที่จะเน้นการให้คำปรึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ เพื่อระบาย หาทางออกด้านจิตใจมากกว่าด้านกฎหมาย และที่น่าห่วงคือ สถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นกว่า 9 % ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ เพราะสามีไม่รับผิดชอบ
นางสาวพัชรี กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดีด้านกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 74 ราย โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 15 % ที่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความ และน่าตกใจ เพราะ 6%ที่มีการดำเนินคดีนั้น มีผู้เสียหายถึง 94% ยืนยันที่จะไม่เอาผิดกับผู้กระทำ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการกระทำซ้ำ เนื่องจากไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่กฎหมายระบุไว้ นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เนื่องจากยังมีทัศนะคติมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายยังไม่รู้ว่ามีพ.ร.บ.คุ้มครองฯ ส่วน 33 % ประชาชนยังเข้าใจผิดคิดว่าการลงบันทึกประจำวันเป็นการแจ้งความแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะไม่มีผลต่อการดำเนินคดีเพราะหากผู้เสียหายไม่มีการยืนยันเพื่อดำเนินคดีและออกเลขที่กำกับ ก็จะทำให้คดีหมดอายุความภายใน3 เดือน
“จากปัญหาดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความตระหนักต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ถูกกระทำ เพื่อสามารถพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น เห็นได้จากการให้บริการ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีกรณีฆ่าสามี เข้ามาปรึกษาทุกปี ซึ่งคดีล่าสุดศาลมีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปีโดยรอลงอาญา ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปทุกกรณีพบว่า ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้แก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามีและเยียวยาผู้หญิง ส่งผลให้เกิดกรณีดังกล่าวที่เป็นการต่อสู่ครั้งแรกและครั้งเดียวของผู้หญิง” นางสาวพัชรี กล่าว
ที่มา: มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล