อึ้ง! เหล้าทำคนไทยตายชั่วโมงละ 3 คน

ศวส.เตรียมจัดประชุมระดับชาติจัดการปัญหาสุรา


 

อึ้ง! เหล้าทำคนไทยตายชั่วโมงละ 3 คน 

            ศวส. เตรียมจัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่  6 ระดมนักวิชาการ นักวิจัยทั่วโลก หาวิธีจัดการปัญหาสุราในโลกเสรี ชี้ เหล้า ไม่ใช่สินค้าปกติ เหตุทำคนไทยตายชั่วโมงละ 3 คน หวั่นผลกระทบ เยาวชนตกเป็นเหยื่อเพิ่ม เตรียมแจกหนังสือรวมประสบการณ์คุมน้ำเมาฟรี เปิดรางวัลบุคคลต้นแบบ หมอสมานมีผลงานดีเด่นด้านป้องกันภัยจากน้ำเมา

 

            วันที่ 15 พ.ย. ที่โรงแรม เอเซีย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) จัดแถลงข่าวการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง สุราในโลกเสรี” “Alcohol in Globalized World” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 พ.ย.นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ โดยดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุทำให้ประชากรโลกตายปีละ 2.5 ล้านราย เป็นคนไทยตายปีละ 2.6 หมื่นราย หรือชั่วโมงละ 3 คน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีการดื่มเป็นประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สสส. จึงได้สนับสนุนการจัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ซึ่งจัดต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว เพื่อสร้างความร่วมมือจากเครือข่ายวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานด้านสุราทั้งในชุมชน ภาคเอกชน องค์กรอิสระทั้งในและต่างประเทศ ระดมความเห็น ในการขับเคลื่อนการจัดทำนโยบาย และมาตรการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งการประชุมวิชาการสุราปีนี้ ได้รับเกียรติจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ปฏิรูปนโยบายแอลกอฮอล์ ปฏิรูปอนาคตประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 22 พ.ย. นี้

 

            นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของการผลิตและนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดปี 2552 ไทยนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากทั่วโลกรวม 6,896 ล้านบาท โดยนำเข้าจากสหภาพยุโรปมากที่สุด ราว 80% มีมูลค่า 5,107 ล้านบาท รองลงมาคือ อาเซียน มูลค่า 722 ล้านบาท และออสเตรเลีย 374 ล้านบาท ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ มีราคาแพง สร้างภาพลักษณ์ไว้หรูหรา น่าทดลอง แต่หากสินค้าเหล้านี้มีราคาถูกลง จะส่งผลให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว

 

            นพ.ทักษพล กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ในหลายประเทศ พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสินค้าธรรมดาไม่ได้เพราะทำให้เกิดอัตราการ เจ็บ ป่วย เสียชีวิต และความสูญเสียทางเศรฐกิจอย่างมาก ซึ่งในการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอบทเรียนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ 1.ศ.โทมัส บาร์เบอ (Prof.Thomas Babor – ผู้แต่งหนังสือ ANOC) หัวหน้าภาควิชาแพทย์ศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยคอนเน็ตติกัท สหรัฐอเมริกา 2.ดร.เมอร์ลีน อี เบอร์มิงแฮม (Dr.Maureen E. Birmingham) ผูแทนองคการอนามัยโลก ประจํา ประเทศไทย  3.ดร.เปีย มาเคลา (Dr.Pia Makela) จากฟินแลนด์ และ 4.ดร.ซุงซู ชุน (Prof. Dr. Sungsoo Chun) ผู้จัดการสถาบันศึกษาปัญหาแอลกอฮอล์ของเกาหลี เนื้อหาสำคัญ เช่น ประสบการณ์ของประเทศแถบยุโรป ที่บริโภคแอลกอฮอล์สูง แต่เมื่อนำกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้ เช่น มาตรการภาษี เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป หรือการใช้ข้อตกลงการค้าเสรีของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมาควบคุมปัญหาสุรา นอกจากนี้ จะมีการแจกหนังสือ สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา (Alcohol: No Ordinary Commodity :ANOC) ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้สนับสนุนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเรียนรู้จุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายต่อไป

 

            ด้านพญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการสุราแห่งชาติ ครั้งที่ 6 มีการมอบรางวัล บุคคลต้นแบบในการจัดการปัญหาสุราผู้ได้รับรางวัลคือ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในการรณรงค์ป้องกันปัญหาแอลกอฮอล์ การบำบัดรักษา โดยรับโล่รางวัลจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุม ทางผรส. จะนำเสนอเวทีวิชาการ เรื่อง การพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการ บำบัดรักษา ผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคสุรา หรือป้องกันการกลับมาดื่มซ้ำ และบำบัดรักษาผู้ติดสุราที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 1559 ปี มีปัญหาการติดสุราประมาณ 5 ล้านคน แต่เข้าถึงการบำบัดรักษาเพียง 2 % เท่านั้น ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ในการประชุมวิชาการครั้งนี้

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

Update:15-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code