สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายโคแฟค (ประเทศไทย) เปิดเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 27 เดินหน้าทบทวนกฎหมายคุ้มครองเด็ก-เยาวชน ให้อยู่บนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
ที่มา: Digital Thinkers Forum #27 เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 27
อึ้ง ! เด็กไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพโลกออนไลน์ พบ 70% ถูกล่อลวงทางเพศ 47% ถูกหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายโคแฟค (ประเทศไทย) เปิดเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 27 เดินหน้าทบทวนกฎหมายคุ้มครองเด็ก-เยาวชน ให้อยู่บนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคี โคแฟค (ประเทศไทย) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาองค์กรของผู้บริโภค ภาคี จัดงาน Digital Thinkers Forum #27 เวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 27 ทบทวนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากยุคแอนะล็อกถึงยุคปัญญาประดิษฐ์ มุ่งนำเสนอประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย และร่วมกันหาทางออกเชิงนโยบายในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ
นางมัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออ ประธานกรรมการกำกับทิศทาง แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนให้มีสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตที่เอื้อต่อสังคมสุขภาวะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศ การจัดเวทีฯ ครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน 2 กลุ่ม คือ 1.เจ็นอัลฟา (Gen Alpha) เป็นกลุ่มที่มีความพิเศษเพราะเกิดในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวไปรอบตัว คืออยู่กับเทคโนโลยีตลอด 24 ชั่วโมง สามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้คล่องแคล่ว มีความเป็นอิสระและค่านิยมของตนเอง มีเพื่อนรอบโลกจากออนไลน์ ใช้แอปพลิเคชันการในเลือกร้านอาหาร ค้นหาเส้นทางในการเดินทาง ดังนั้น พลเมืองโลกที่เรียกว่า Digital Nomad หรือคนที่ทำงานออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรุ่นลูกหลานของเรา 2.เจ็นเบตา (Gen Bata) ที่จะเริ่มเกิดในปี 2568 ซึ่งจะยิ่งฉลาดขึ้นไปอีก คำถามคือ การอยู่ร่วมกันระหว่างรุ่น ทั้งเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เจ็นเอ็กซ์ (Gen X) เจ็นวาย (Gen Y) เจ็นแซด (Gen Z) กับเจ็นใหม่ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งระบบสื่อสาร การเคลื่อนตัว การใช้ชีวิต จะประสานเชื่อมโยงกันได้อย่างไร
“ปัจจุบันสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับโลก การเข้าไม่ถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความเห็นที่แตกต่างกลายเป็นประเด็นทางสังคม สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมกัน ซึ่งในเวทีครั้งนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่น่าห่วงใย และชวนเฝ้ามองก้าวต่อไปการทำงานของหน่วยงานที่ต้องทำร่วมกับเด็กและเยาวชน” นางมัทนาฯ กล่าว
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชน อายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบเด็กและเยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือ 81% ใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้านหรืออินเตอร์เน็ตฟรีตามสถานที่ต่างๆ 64% ที่น่าสนใจพบว่ามีเด็กประถมสูงถึง 12% เคยถูกจีบทางออนไลน์ 47% พบโฆษณาการพนันออนไลน์ ซึ่งในจำนวนนี้ 7% เคยถูกหลอกให้เล่นการพนันออนไลน์ เด็กที่เล่นการพนันออนไลน์ตอนนี้อายุต่ำสุดคือ 7 ปี บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ปรากฏการซื้อขายบนโลกออนไลน์ รวมทั้ง Toy Pod ยังออกแบบเพื่อยั่วยวนให้ทดลองอีกด้วย
“กฎหมายไทยระบุถึงการข่มขืน กระทำอนาจาร พรากผู้เยาว์ เป็นการกระทำแบบถึงเนื้อถึงตัว แต่ปัจจุบันคนร้ายคุยกับเด็กผ่านกล้อง โน้มน้าวให้เด็กเปลือยกายแล้วถ่ายรูปหรือบันทึกคลิปวิดีโอ และใช้ข่มขู่ให้เด็กออกมาเจอเพื่อทำการล่วงละเมิดทางเพศ หรือข่มขู่ให้ไปหลอกเพื่อนมาอีก ดังนั้น บนโลกออนไลน์เด็กและเยาวชนต้องได้รับความคุ้มครองพื้นฐานสิทธิเด็ก 4 ประการ 1.สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ 2.ได้รับการเติบโตพัฒนาไปในทางที่ถูกที่ควร 3.ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตรายหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ 4.การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในสิ่งที่ตนเองเกี่ยวข้อง เพราะทุกคนอยู่บนโลกดิจิทัล และไม่สามารถตัดออกจากชีวิตได้ จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันหาทางออกและปกป้องเด็กเยาวชนให้สามารถอยู่ในโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยต่อไป” ดร.ศรีดา กล่าว
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า DSI ทำงานในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กมา 20 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยจุดกำเนิด ที่ผ่านมา DSI มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือทางคดีอาญากับต่างประเทศ ซึ่งวางเป้าหมายไว้ คือการประสานงานในคดีที่เกี่ยวข้องยาเสพติดหรืออาชญากรรมอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงคือได้รับการประสานงานเรื่องคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กมาเป็นอันดับ 1 ในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก (Sex Tourism) และการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็ก ทั้งนี้ 70% ของเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายจะไม่เล่าเรื่องให้ใครฟัง
“การล่อลวงเด็ก การชักจูงเด็กไปในทางไม่เหมาะสม การขู่กรรโชก กฎหมายประเทศไทยยังไปไม่ถึง ปรากฏว่าต้องรอให้เด็กและเยาวชนถูกคุกคามให้เกิดอันตรายแบบแตะเนื้อต้องตัวก่อน ถ้าเราคิดถึงขั้นบันไดที่กำลังเดินไปถึงจุดสูงสุด คือการเห็นเด็กถูกกระทำชำเรา บางรายอาจถึงบาดเจ็บหรือล้มตาย เราจะต้องรอให้ถึงบันไดขั้นสุดท้ายตรงนั้นหรือเปล่า แทนที่เราจะสามารถสกัดตั้งให้เด็กและเยาวชนไม่ต้องขึ้นบันไดขั้นแรกแล้วมันจบตรงนั้น นี่คือกระบวนการทางกฎหมายที่อาจจะต้องปรับปรุงให้ทันต่อการก่ออาชญากรรมรูปใหม่ต่อไป” ร.ต.อ.เขมชาติฯ กล่าว
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีมีประโยชน์มาก ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์กว้างขวางขึ้น แต่ก็ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเราได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่แม้จะเติบโตมากับเทคโนโลยี และใช้งานได้คล่อง แต่คนร้ายก็จะหาวิธีใหม่ๆ เพื่อล่อลวงหรือทำร้ายเด็ก เช่น หลอกเด็กที่อยากเป็นนางแบบหรือดารา โดยปลอมตัวเป็นโมเดลลิ่ง หลอกให้เปิดเผยเนื้อตัวร่างกาย จนถึงนำคลิปที่ถ่ายไว้มาข่มขู่กรรโชกไม่ว่าเพื่อการล่วงละเมิดทางเพศหรือเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินเงินทอง ทางคณะกรรมการสิทธิฯ สนใจติดตามเรื่องนี้ แม้จะยังมีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องล่อลวงเด็กและเยาวชนเข้ามาไม่มาก แต่การแก้ไขปัญหาทำได้ทั้งการป้องกันและแก้ปัญหาเชิงระบบ ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับการที่จะขับเคลื่อนให้มีกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ในด้านการป้องกันและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นและเป็นพิษเป็นภัยน้อยลง
ดร.สุจิตรา แก้วสีนวล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตเป็นได้ทั้งประตูสู่สวรรค์หรือนรก ในความเป็นจริงทั้ง 2 ด้านไม่ได้แยกจากกัน เช่น ในขณะที่ครูสั่งการบ้าน เด็กก็สามารถเห็น Pop Up บางอย่างที่เป็นความเสี่ยง คำถามคืออะไรจะทำให้อยู่และเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร “Cognitive Responsibility” หมายถึง กระบวนการรับผิดชอบภายใต้การรู้คิด หากมีกฎหมายมากเกินไปอาจเกิดความกลัว ทั้งที่อินเตอร์เน็ตเป็นโอกาส การเข้าไปจัดการโดยมองว่าเป็นความหวังดี แต่หากควบคุมมาก การเผชิญกับความจริงหรือสถานการณ์ที่เรามองไม่เห็นอีกทั้งมีทั้งดีและร้ายอยู่ด้วยกัน เด็กจะใช้พัฒนาตนเองหรือพัฒนากระบวนการรู้คิดในการจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองเผชิญความเสี่ยง ก็ต้องเป็นความเสี่ยงเรารู้ว่าจะสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ ทั้งนี้ การจัดให้มีหลักสูตรหรือห้องเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ว่าเมื่อเผชิญกับภัยอันตราย เขาจะจัดการอย่างไร จะช่วยให้เด็กอยู่บนโลกออนไลน์ได้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ อีกทั้งวิธีการยังหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่หรือเด็กแต่ละคนได้