อึ้ง! ปริมาณขยะติดเชื้อ ปี 55 สูงถึง 4.2 หมื่นตัน

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษแก้ไขการลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อในที่สาธารณะ เผยปริมาณขยะติดเชื้อในประเทศไทยมีประมาณ 42,000 ตันต่อปี ทำให้สถานบริการสาธารณสุขจ้างบริษัทเอกชนนำไปกำจัด

นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากปัญหาการลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อในที่สาธารณะ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากเตาเผาขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลบางแห่งไม่สามารถใช้การได้ ขาดงบประมาณในการซ่อมบำรุง และค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในระบบเผามีราคาแพง สำหรับเตาเผาขยะติดเชื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเพียง 13 แห่ง ก็เป็นเตาแบบเก่าที่ไม่สามารถเดินระบบได้เต็มประสิทธิภาพมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพและเป็นเตาเผาแบบหมุน คือ เตาเผาขยะติดเชื้อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีและเทศบาลเมืองวารินชำราบ

ส่วนเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่ของเอกชนมีเพียง 4 แห่ง ส่งผลให้โรงพยาบาลที่มีจำนวนกว่า 800 แห่ง ส่วนใหญ่ส่งขยะติดเชื้อให้บริษัทเอกชนนำไปกำจัดภายนอกโรงพยาบาล ร้อยละ 56 เผาด้วยเตาเผาในโรงพยาบาลร้อยละ 30 ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำจัดร้อยละ 8 และอื่นๆ ร้อยละ 6 อีกทั้งยังพบแนวโน้มที่โรงพยาบาลจะส่งขยะติดเชื้อให้บริษัทเอกชนรับนำไปกำจัดมากขึ้น

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจปริมาณขยะติดเชื้อโดยกระทรวงสาธารณสุขในปี 2555 พบว่า มีขยะติดเชื้อประมาณ 42,000 ตันต่อปี โดยแบ่งเป็นสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ 28,000 ตัน และสถานบริการสาธารณสุขของเอกชน 14,000 ตัน ซึ่งขยะติดเชื้อที่กำจัดไม่ถูกวิธีจะแพร่กระจายเชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่น โรคท้องร่วง โรคพยาธิ เชื้ออหิวาตกโรค ไทฟอยด์ โรคบิด บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบ และโรคเอดส์ กรมอนามัยจึงร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษแก้ไขการลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อในที่สาธารณะ โดยให้สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมจัดการประชุมสาธารณสุขรวมใจท้องถิ่นต้านภัยมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อควบคุมกำกับปริมาณขยะติดเชื้อในประเทศไทยให้เป็นระบบ

นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบเอกสารกำกับการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ ให้โรงพยาบาล ผู้ขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ (เอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และผู้กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ (เอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ต้องจัดทำเอกสารหรือแบบกำกับ ซึ่งจะเริ่มใช้เอกสารกำกับการขนส่งปริมาณมูลฝอยติดเชื้ออย่างเป็นระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป รวมทั้งเสนอทางเลือกสำหรับการจัดการขยะติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำอีกด้วย

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการขยะติดเชื้อโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานบริการสาธารณสุขที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะติดเชื้อ หรือโรงพยาบาลที่ให้บริษัทเอกชนขนส่งและกำจัดขยะติดเชื้อต้องมีการกำกับและตรวจสอบอย่างเข้มงวดต่อเอกสารหรือหลักฐานของบริษัทเอกชนให้ถูกต้อง และให้บริษัทเอกชนดำเนินการการเก็บ ขน จนถึงขั้นตอนการกำจัดทำลาย ณ สถานที่กำจัดทำลายที่ถูกวิธี ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้องมีใบอนุญาตรับทำการเก็บ และขนมูลฝอยติดเชื้อ ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ใบอนุญาตรับทำการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และรายงานการควบคุมมาตรฐานอากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code