อีโบลาระบาดช้า ไม่แพร่ผ่านทางเดินหายใจ

      กรมควบคุมโรค ชี้ ไวรัสอีโบลาแพร่ระบาดช้า เหตุติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เลือด ไม่ใช่ทางเดินหายใจ ระบุคุมโรคในแอฟริกาไม่ได้ เหตุน้ำสะอาดไม่เพียงพอ ใช้มือเปล่าจัดการศพ เผยต่างชาติจากแถบระบาดเข้าไทยเดือนละ 100 ราย มีการเฝ้าระวังติดตามเข้ม


/data/content/25240/cms/e_cfptuv125678.jpg


      นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า วงการระบาดของโรคอีโบลาอยู่ใน 3 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน ส่วนประเทศไนจีเรียเกิดจากผู้ป่วยเดินทางมาจากไลบีเรีย ทั้งนี้ ไวรัสอีโบลาติดต่อเหมือนกับโรคเอดส์ และไวรัสตับอักเสบ คือ ติดต่อจากสารคัดหลั่ง เลือด แต่ยังไม่พบการติดต่อทางเดินหายใจ ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปได้ช้ากว่ากลุ่มโรคติดต่อทางเดินหายใจ อัตราการติดเชื้อจึงเกิดอย่างช้าๆ แต่ที่ควบคุมการระบาดยังไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมและลักษณะประเทศของแอฟริกา ที่ไม่มีน้ำสะอาดเพียงพอ อุปกรณ์ป้องกัน หรือการฝังศพที่ชาวบ้านยังใช้มือเปล่า ทำให้โดนสารคัดหลั่งจากศพจนติดเชื้อและควบคุมได้ยาก


      นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ระยะฟักตัวของอีโบลาจะไม่เกิน 7 วัน แต่องค์การอนามัยโลก ยังระบุว่าประมาณ 2 – 21 วัน โดยมีอัตราการตายสูงร้อยละ 50 – 90 ทั้งนี้ จากการติดตามพบว่า มีประชาชนจากแถบประเทศที่เกิดการระบาดเดินทางเข้ามาประมาณ 100 รายต่อเดือน แต่อาศัยอยู่ไม่นานนัก ซึ่ง สธ. มีระบบเฝ้าระวังการระบาด โดยจะให้ประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศต้องสงสัยรายงานตัวและลงชื่อ ที่อยู่ เพื่อติดตามอาการเจ็บป่วย จะได้เฝ้าระวังโรคทัน ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไป 3 ประเทศดังกล่าว หากไม่มีความจำเป็นก็ยังไม่ควรเดินทางไป และหากจำเป็นต้องเดินทางไป ต้องรายงานตัวที่ประเทศเซเนกัล เพราะมีสถานกงสุลอยู่ ฉะนั้น มาตรการขณะนี้ถือว่าเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังโรคเมอร์สโควี ยังถือว่าต้องทำอย่างเข้มข้นมากกว่า


 


 


         ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code