“อีสานสร้างสุข” วิถีพอเพียงสู่ชุมชนพึ่งตนเอง
การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคน ให้รู้ปัญหาของตนเองและชุมชน รู้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และเชื่อว่าจะพึ่งตัวเองได้ จนนำไปสู่ ชุมชนเข้มแข็ง โดยเริ่มจากการค้นพบศักยภาพ ของตนเอง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงร่วมกันจัด มหกรรม "ฮักแพง แบ่งปัน อีสานสร้างสุข" ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ พร้อมเวทีเสวนา "อีสานน่าอยู่ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ ในการแก้ปัญหา และสร้างชุมชนท้องถิ่นให้น่าอยู่
เริ่มจาก"ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ" ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. บอกว่า สสส.ริเริ่มโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นกว่า 4 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมและประสบผลสำเร็จแล้วกว่า 1,000 ชุมชน เฉพาะในภาคอีสาน 20 จังหวัด มีชุมชนเข้าร่วม 362 โครงการ โดยเรามุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ ทั้งด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยการแก้ปัญหาควรลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต ลดปัญหาอบายมุข เรื่องเหล้าบุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ปัญหาที่มีอยู่ ในชุมชน จะทำให้คนในชุมชน มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีได้
"สสส.วางแผนระยะยาวไว้ 10 ปี ที่มุ่งจะทำ ให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นได้ และอยากให้ทุกคนในประเทศไทยมีขีดความสามารถ และมีสังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ เกิดระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี เป้าหมายเหล่านี้มุ่งเพิ่มจำนวนของชุมชนในท้องถิ่น ให้เข้มแข็งมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้" ทันตแพทย์ศิริเกียรติ บอกทิ้งท้าย
ด้าน"นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน" หัวหน้า โครงการขยายผลการพัฒนาทักษะด้าน การบริหารงานสร้างเสริมสุขภาพให้แก่บุคลากรขององค์กรบริหารส่วนตำบล บอกว่าต่อไปความต้องการเฉพาะของแต่ละชุมชนจะมีมากขึ้น เปรียบเทียบเช่น เราต้องทำขนมเพิ่มขึ้น แต่ก่อนทำขนมชิ้นเดียว แต่ต่อไปต้องทำขนมถึง 3 ชิ้น เพราะแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว "ผู้นำ" ของแต่ละชุมชนจะเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขในส่วนนี้ได้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง"สภาผู้นำชุมชนน่าอยู่" ซึ่งคัดสรรมาจากบุคคลในหมู่บ้านที่มีจิตสาธารณะในการทำงาน ซึ่งจะมี การแบ่งงานทำงานตามความสามารถและความถนัด ของแต่ละคน โดยเรียนรู้จากการปฐมนิเทศของ สสส.และมีพี่เลี้ยงสนับสนุน การเรียนรู้ในพื้นที่
นายสุรพลบอกต่อว่า ชุมชนจะต้อง แก้ปัญหาได้ โดยใช้กลไกสภาแกนนำชุมชนเข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ของคนในชุมชน การที่ชุมชนมีสภาแกนนำที่ เข้มแข็งสามารถเป็นแบบอย่างและชุมชนมีความสามัคคีไม่ว่าจะทำโครงการอะไรก็จะประสบ ผลสำเร็จทั้งสิ้น
"สสส.มุ่งสนับสนุนให้คนในชุมชนทำ สิ่งที่คิดว่าจะทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่ และนำแบบอย่างของชุมชนน่าอยู่ต้นแบบไปปรับใช้ ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร หมู่บ้านส่วนใหญ่ พอใจ หลายแห่งทำต่อเนื่อง และเป็นหลักในการขยายผลไปยังชุมชนอื่น ทั้งนี้ความสำเร็จขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้นำ และความร่วมมือของคน ในชุมชนเป็นสำคัญ" นายสุรพลกล่าว
ด้าน "นายคำเดื่อง ภาษี หรือพ่อคำเดื่อง" ปราชญ์เกษตรพอเพียง จ.บุรีรัมย์ แนะถึงแนวทางการดำเนินชีวิตในแบบเกษตรอินทรีย์ในสังคมปัจจุบันว่า สุขภาวะมันต้องสมดุลกันทุกด้านไม่ใช่มีเงินอย่างเดียว ความสุขคือการเริ่มจากคืนทุนให้กับธรรมชาติ เพื่อสร้างสมดุลทดแทนให้กับทรัพยากรที่สูญเสียไปจากการที่เราใช้กันแบบไม่ยั้งคิด ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาตามมามากมาย ลองคิดดูว่าขนาดประเทศในยุโรป ที่เป็นแถวหน้าของโลกที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจยังล้มได้ แล้วประเทศแถวหลังอย่างเรา ถ้ามีวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้าเรายังเดินตามแบบโลกทุนนิยม เชื่อว่าอีก 100 ปีเราจะล้มแบบยุโรป แต่ถ้าเราหยุดแล้วมาใช้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เราจะกลายเป็นประเทศแถวหน้าของโลกได้ในที่สุด ดังนั้นถ้าทุกคนต้องการความอุดมสมบูรณ์ ชีวิตไม่เดือดร้อน ก็ต้องเปลี่ยนมาคิดมุมวิถีของธรรมชาติกันบ้าง
สอดคล้องกับ "นายเล็ก กุดวงค์แก้ว" ปราชญ์การจัดการทรัพยากรป่า จ.สกลนคร บอกว่า สงสารลูกหลานที่เกิดมาทีหลัง เพราะป่าไม้ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เริ่มเหลือน้อยลงไปทุกที ทำให้คนรุ่นหลังจะพึ่งพาตัวเองยากมากขึ้น และต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดคนนั้น เป็นเรื่องยากที่สุดในโลก ซึ่งเราต้องใช้ความเข้าใจและระยะเวลาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนความคิด ขณะเดียวกันเราต้องเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะแหล่งอาหารของมนุษย์อยู่ในธรรมชาติ ดังนั้นเราต้องรักษาไว้"สุขภาวะทางกาย สังคม และจิตวิญญาณจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ มีพออยู่พอกิน มีภูมิปัญญาเป็นทุน และลูกหลานคนรุ่นใหม่ต้องรักถิ่นฐานบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราพึ่งพาตัวเองได้" นายเล็กสรุป
เชื่อว่าการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง น่าอยู่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นมีสุขภาวะที่ดี และหากมีการดำเนินงานอย่างกว้างขวางแล้วนั้น ก็ย่อมส่งผลให้เป็นประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าอยู่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต